แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับโจทก์จะได้ลงนามในสัญญาซึ่งทำไว้แต่เพียงฉบับเดียว และในสัญญาจะระบุจำนวนเงินที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องชำระแก่โจทก์ไว้เพียงจำนวนเดียว ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจ้างโจทก์ทำของ คือก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์โดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระไม่ เพราะนิติกรรมสองฝ่ายหรือสัญญานั้นเกิดขึ้นได้จากการกระทำด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาด้วยคำเสนอ อีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาด้วยคำสนองรับที่ถูกต้องตรงกัน ดังนั้น หากคู่สัญญาแสดงเจตนาทำเอกเทศสัญญาสองลักษณะต่างกัน แม้จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ย่อมกระทำได้ ไม่มีกฎหมายห้าม คดีนี้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจตนาทำสัญญากับโจทก์ 2 ลักษณะเอกเทศสัญญา คือ สัญญาซื้อขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ กับสัญญาจ้างทำของ ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์ ดังที่มีข้อความระบุไว้ใน ManagementProposal Section 1 Contract 2 Agreement for Sale,Installationand Construction (สัญญาซื้อขาย ติดตั้ง และก่อสร้าง) ตามเอกสารหมาย จ.6หน้า 120 ว่า ” บันทึกและตกลงข้อเสนอของเบลส์ (โจทก์) ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าการจัดหาเครื่องมือและวัตถุดิบและการบริการติดตั้งจะเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากกันในสัญญาระหว่าง TOT (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) กับเบลส์ นอกจากนี้ใน Record of Negotiation นั้น Summary of Cost ตามเอกสารหมายจ.2 หน้า 209 ยังได้แบ่งมูลค่าของสัญญาออกเป็น Main Stems และ OptionalStems โดยแยกรายละเอียดลงไว้เป็นแต่ละรายการด้วยว่าค่าอะไร จำนวนเท่าใดต้องจ่ายด้วยเงินตราสกุลใดไว้ด้วย เอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 นี้ เป็นเอกสารที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ข้อ โอ และข้อ ไอ ซึ่งข้อ 1 ของสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ระบุว่า เป็นเอกสารประกอบสัญญาที่ก่อให้เกิดและเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ฉะนั้นจึงต้องตีความเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาจากถ้อยคำสำนวนที่ได้เขียนลงไว้ในเอกสารประกอบสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ให้เป็นผลบังคับได้ว่าโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจตนาทำสัญญาซื้อขาย คือขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ กับสัญญาจ้างทำของ คือก่อสร้าง ติดตั้งเครือข่ายชุมทางโทรศัพท์ แยกต่างหากจากกันเป็น 2 ลักษณะเอกเทศสัญญา และแยกราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายออกต่างหากจากสินจ้าง หาใช่คู่สัญญาเจตนาทำสัญญาจ้างทำของโดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระไม่
ขณะโจทก์ทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้นโจทก์ยังไม่มีสถานธุรกิจประจำซึ่งโจทก์ใช้ประกอบธุรกิจการขายตั้งอยู่ในประเทศไทยจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยในขณะทำสัญญาขายเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าสัญญาจ้างทำของ คือก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์ เป็นโครงการที่โจทก์ต้องเข้ามาดำเนินการมีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน จึงถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5.2 (ซ) แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนนั้น ความตกลงในข้อดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า กรณีที่โจทก์ไม่มีสถานประกอบการถาวรตามความตกลงข้อ 5.1 แต่มีสถานที่ตั้งโครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบดำรงอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 6 เดือน ก็ให้ถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยสำหรับธุรกิจตามสัญญาจ้างทำของนั้นเท่านั้น หาได้มีความหมายว่า สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยดังกล่าวเป็นสถานประกอบการถาวรของโจทก์สำหรับธุรกิจตามสัญญาซื้อขาย เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ไปด้วยไม่ ฉะนั้นกำไรจากธุรกิจการขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ผู้ขายอยู่ต่างประเทศซื้อขายกันในราคา ซี.ไอ.เอฟ. ผู้ซื้อส่งเงินไปชำระแก่ผู้ขาย ณต่างประเทศและรับผิดชำระอากรขาเข้าเอง อันเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาจ้างทำของ จึงถือไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย โจทก์เป็นวิสาหกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเบลเยี่ยมจึงอยู่ภายใต้อำนาจการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายของประเทศเบลเยี่ยม ตามบังคับข้อ 7.1 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยม เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3 เมื่อปรากฏว่า รายรับจำนวน 41,026,412.58 บาท ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาเป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ในอัตราร้อยละ 5ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) นั้น โจทก์อ้างว่าเป็นรายรับค่าขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ จำนวน 32,473,226.58 บาท ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งไปชำระแก่โจทก์ที่สำนักงานใหญ่ประเทศเบลเยี่ยมโดยตรง ส่วนอีกจำนวน 8,553,186 บาท นั้น โจทก์อ้างว่าเป็นค่าก่อสร้าง ค่าขนส่งและค่าอากรขาเข้า แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่เชื่อข้ออ้างของโจทก์เฉพาะเงินจำนวนหลัง เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ ดังนี้จึงฟังได้ว่าเงินรายรับจำนวน32,473,226.58 บาท เป็นรายรับตามสัญญาซื้อขาย เจ้าพนักงานประเมินจึงนำมารวมเป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ไม่ได้ เพราะไม่ใช่กำไรจากกิจการที่โจทก์ได้รับผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เจ้าพนักงานประเมินคงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของเงินจำนวน 8,553,186 บาท อันเป็นเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทำของซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีค่าขนส่งและค่าอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยเท่านั้น คำนวณแล้วเป็นค่าภาษีจำนวน 427,659.30 บาท เมื่อหักค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 410,264.17 บาทออกให้แล้ว โจทก์คงต้องรับผิดในค่าภาษีรายการนี้เพียงจำนวน 17,395.13 บาทส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และปี 2527 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากยอดรายรับ จำนวน 149,023,234.30 บาทและ 272,231,011.52 บาท นั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่ามีรายรับของสัญญาซื้อขายรวมอยู่ด้วย จึงต้องฟังว่าเป็นรายรับของสัญญาจ้างทำของซึ่งโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 ตามป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) จึงชอบแล้ว
ภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 นั้น เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากฐานเงินได้ 41,026,412.58 บาท ซึ่งรวมเอารายรับตามสัญญาซื้อขายจำนวน32,473,226.58 บาท ที่ได้รับยกเว้นภาษีเข้าไปด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ต้องประเมินจากยอดรายรับตามสัญญาจ้างทำของจำนวน 8,553,186 บาท เท่านั้นคำนวณแล้วเป็นค่าภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 เพียงจำนวน 106,908.16 บาท ส่วนภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และปี 2527นั้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่า ยอดรายรับในปีดังกล่าวมีรายรับตามสัญญาซื้อขายรวมอยู่ด้วย การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว
การที่ลูกจ้างของโจทก์ที่เป็นชาวเบลเยี่ยมเข้ามาทำงานในประเทศไทยถูกสำนักงานใหญ่หักภาษีเงินได้ไว้เพื่อเสียภาษีตามกฎหมายประเทศเบลเยี่ยมแล้ว ยังถูกสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยหักภาษีเงินได้ไว้ณ ที่จ่าย และนำส่งแก่เจ้าพนักงานของจำเลยอีก สถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงให้ลูกจ้างยืมเงินตามจำนวนดังกล่าวไปชำระก่อนแล้วจึงนำไปหักกลบกับเงินที่สำนักงานใหญ่ได้หักไว้เป็นค่าภาษีตามกฎหมายประเทศเบลเยี่ยมกรณีจึงหาใช่โจทก์ออกเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ลูกจ้างไม่
โจทก์ประกอบการค้ารับจ้างทำของโดยมีรายรับในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 สำหรับเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2525 จำนวนเพียง8,553,186 บาท แต่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าไว้ จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับค่าภาษีการค้า 2 เท่า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (2) กับค่าปรับภาษีบำรุงเทศบาลด้วย