คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7980/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ในขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาและผู้จัดการสำนักงานเขต มีอำนาจอนุมัติให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายเดียวกันได้ไม่เกินวงเงิน 4,000,000 บาท แต่โจทก์อนุมัติให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายนาง ธ. กับนาย ส. ซึ่งเป็นสามีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสอันถือเป็นลูกค้ารายเดียวกันตามระเบียบข้อบังคับ ข้อ 1.5.1 กู้รวมแล้วเกินกว่า 4,000,000 บาท และอนุมัติให้สินเชื่อแก่นาย ค. กับนาง น. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ธ. อันถือเป็นลูกค้ารายเดียวกันตามระเบียบข้อบังคับข้อ 1.5.3 เป็นจำนวนเงินกว่า 4,000,000 บาท การอนุมัติสินเชื่อของโจทก์มีลักษณะเป็นการกระจายหนี้ซึ่งเกินอำนาจอนุมัติของโจทก์เพื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 1 ออกระเบียบกำหนดวงเงินอนุมัติสินเชื่อตามตำแหน่งรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละระดับนั้นก็เพื่อกลั่นกรองป้องกันความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้อำนาจของพนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นพนักงานธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินที่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอันเกี่ยวกับการเงินของจำเลยที่ 1 โดยเคร่งครัดด้วยความระมัดระวังและสุจริต มิฉะนั้นแล้วจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกิจการของธนาคารจนอาจทำให้ธนาคารไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มากว่า 20 ปี ย่อมรู้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดี กลับหาช่องทางหลีกเลี่ยงระเบียบข้อบังคับด้วยวิธีการกระจายหนี้ที่เกินอำนาจอนุมัติของโจทก์เป็นหนี้หลายรายแล้วโจทก์อนุมัติให้สินเชื่อไปจนทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายจำนวนมากเช่นนี้ นับว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 36,200 บาท เงินบำเหน็จชดเชยจำนวน 208,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์จำนวน 541,617.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์อนุมัติสินเชื่อผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์ให้ปากคำยอมรับต่อคณะกรรมการสอบสวนว่าได้อนุมัติสินเชื่อในลักษณะดังกล่าวจริง จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ใดๆ ยกเว้นเงินสะสมในส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2532 คำสั่งที่ 50/2536 เรื่อง มอบอำนาจในการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อและคำสั่งที่ 66/2537 เรื่อง มอบอำนาจในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อได้กำหนดอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อของผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสำนักงานเขต ซึ่งเป็นตำแหน่งของโจทก์ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ว่าจะอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้ารายเดียวกันได้ไม่เกินวงเงิน 4,000,000 บาท และตามระเบียบข้อบังคับ ข้อ 1.5 ให้คำจำกัดความว่า “ลูกค้าแต่ละราย หรือลูกค้ารายใดรายหนึ่ง หรือคำอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน” หมายความถึง ลูกค้ารายเดียว หรือลูกค้าหลายรายทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่มีความเกี่ยวข้องกันดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นลูกค้ารายเดียวกัน
1.5.1 เป็นสามี หรือภรรยาไม่ว่าได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่ได้จดทะเบียนสมรส
1.5.3 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และหรือมีอำนาจจัดการ หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในกิจการนั้น โดยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนนิติบุคคลนั้น ๆ
การที่โจทก์ในขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาขอนแก่นและผู้จัดการสำนักงานเขต 14 มีอำนาจอนุมัติให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายเดียวกันได้ไม่เกินวงเงิน 4,000,000 บาท แต่โจทก์อนุมัติให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายนางธิดาวรรณ กับนายสังคม ซึ่งเป็นสามีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรส อันถือเป็นลูกค้ารายเดียวกันตามระเบียบข้อบังคับ ข้อ 1.5.1 กู้รวมแล้วเกินกว่า 4,000,000 บาท และอนุมัติให้สินเชื่อแก่นายคมกริช กับนางนารี ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทธวัชคอนสตรัคชั่น จำกัด อันถือเป็นลูกค้ารายเดียวกันตามระเบียบข้อบังคับเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 4,000,000 บาท ข้อ 1.5.3 การอนุมัติให้สินเชื่อของโจทก์มีลักษณะเป็นการกระจายหนี้ซึ่งเกินอำนาจอนุมัติของโจทก์ เพื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 ปัญหาว่าการฝ่าฝืนดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ออกระเบียบกำหนดวงเงินอนุมัติสินเชื่อตามตำแหน่งรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละระดับนั้น ก็เพื่อกลั่นกรองป้องกันความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้อำนาจของพนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นพนักงานธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินที่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอันเกี่ยวกับการเงินของจำเลยที่ 1 โดยเคร่งครัดด้วยความระมัดระวังและสุจริต มิฉะนั้นแล้วจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกิจการของธนาคาร จนอาจทำให้ธนาคารไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มากว่า 20 ปี ย่อมรู้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดี กลับหาช่องทางหลีกเลี่ยงระเบียบข้อบังคับด้วยวิธีการกระจายหนี้ที่เกินอำนาจอนุมัติของโจทก์เป็นหนี้หลายรายแล้วโจทก์อนุมัติให้สินเชื่อไปจนทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายจำนวนมากเช่นนี้ นับว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ตั้งกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ทันที กลับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งโจทก์ให้สูงขึ้น เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อโจทก์มาดังกล่าว ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง เห็นว่า การกระทำผิดระเบียบข้อบังคับในกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้กระทำผิด ลักษณะของการกระทำผิดประกอบกับผลเสียหายอันเกิดจากการกระทำผิด มิได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้เสียหายจะตั้งกรรมการสอบสวนผู้กระทำผิดหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 มิได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทันทีนั้น มิได้ทำให้การกระทำผิดของโจทก์กลายเป็นไม่มีความผิดหรือกลายเป็นความผิดในกรณีไม่ร้ายแรง
พิพากษายืน.

Share