คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7871/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายการค้าเป็นรูปสามเหลี่ยมประดิษฐ์ และคำว่า “Panabishi” กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จดทะเบียนคำว่า “Panasonic” มีคำ 2 พยางค์แรกเป็นคำว่า Pana คำเดียวกัน แม้คำพยางค์อื่นที่นำมาประกอบในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะแตกต่างกัน แต่ปรากฏว่ามีตัวอักษรที่เหลือจำนวน 5 ตัวเท่ากัน ทำให้เข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panabishi” อยู่ในเครือเดียวกันกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” นอกจากนี้จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” ในสินค้าจำพวกที่ 8 (เดิม) สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งรวมถึงเครื่องปรับอากาศและยื่นคำขอต่ออายุการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 11 (ใหม่) รายการสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ก่อนที่โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panabishi” เกือบ 10 ปี แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปสามเหลี่ยมอยู่ด้วย แต่คำว่า “Panabishi” และ “Panasonic” มีตัวอักษร 9 ตัวเท่ากัน มีลักษณะเด่นที่คำว่า “Pana” การเรียกขานก็คล้ายกัน และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งโจทก์ก็ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า “PANA” และ “Panasonic” จึงนับได้ว่าคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้แล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีอำนาจสั่งระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า “Panabishi” ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าเครื่องปรับอากาศโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panabishi” เครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นสามเหลี่ยมประดิษฐ์ขนาดใหญ่ มีสีทึบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม วิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงจนเกิดเป็นเส้นความเร็วสูงขึ้น ส่วนที่ 2 วางอยู่ด้านขวาของรูปสามเหลี่ยมประดิษฐ์เป็นคำประดิษฐ์คำว่า “Panabishi” คือเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2538 โจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 11 (ใหม่) รายการสินค้าเครื่องปรับอากาศ ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2538 จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2539 นายสมุทรได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “PANA” และ “Panasonic” ของจำเลย คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” “National” “Panacycle” “PANA” และเครื่องหมายการค้าคำอื่น ๆ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย และได้มีการจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า เครื่องหมายการค้า ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “PANA” หรือ “Panasonic” ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายการค้า รูปสามเหลี่ยมประดิษฐ์ และคำว่า “Panabishi” เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จดทะเบียนคำว่า “Panasonic” ไว้ จะเห็นได้ว่าคำ 2 พยางค์แรกจะเป็นคำว่า Pana คำเดียวกัน แม้คำพยางค์อื่นที่นำมาประกอบในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะแตกต่างกัน แต่ปรากฏว่ามีตัวอักษรที่เหลือจำนวน 5 ตัว เท่ากัน เมื่อพิจารณาประกอบกับรายงานการวิจัยเรื่องความคล้ายคลึงและแตกต่างของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” และ “Panabishi” โดยรองศาสตราจารย์ ดร. อรนุช คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร. อลงกต ซึ่งสรุปผลว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันด้านขนาด รูป และการอ่านออกเสียง ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามจะหลงผิดในการซื้อและการจำแนกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งสองเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้เมื่อซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panabishi” จะทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามคิดถึงสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” และเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panabishi” อยู่ในเครือเดียวกันกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” ในสินค้าจำพวกที่ 8 (เดิม) สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งรวมถึงเครื่องปรับอากาศด้วยตั้งแต่ พ.ศ. 2528 และยื่นคำขอต่ออายุการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 11 (ใหม่) รายการสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 ก่อนที่โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panabishi” เกือบ 10 ปี แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปสามเหลี่ยมอยู่ด้วย แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า “Panabishi” ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “Panasonic” ของจำเลย มีตัวอักษร 9 ตัว เท่ากัน มีลักษณะเด่นอยู่ที่คำว่า “Pana” 2 พยางค์แรกเหมือนกัน การเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่า “พานาบิชิ” และ “พานาโซนิก” คล้ายกัน และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องปรับอากาศซึ่งโจทก์ก็ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า “PANA” และ “Panasonic” จึงนับได้ว่าคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้แล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีอำนาจสั่งระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ได้…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share