แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ขอเลื่อนคดีมาแล้วครั้งหนึ่งอ้างว่าทนายความคนก่อนขอถอนตัวยังไม่ได้แต่งตั้งทนายความคนใหม่ จำเลยแถลงคัดค้านว่าได้เตรียมพยานมาพร้อมแล้วไม่ควรให้เลื่อน ศาลภาษีอากรกลางให้เลื่อนสืบพยานจำเลยไปวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 ครั้นถึงวันนัด โจทก์ขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าโจทก์เพิ่งแต่งตั้งทนายความคนใหม่แทนทนายความคนก่อนที่ถอนตัว คดีมีเอกสารมาก ทนายความคนใหม่ไม่สามารถซักค้านพยานจำเลยได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์มีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีชักช้าโดยปราศจากเหตุอันสมควร ทั้ง ๆ ที่ศาลภาษีอากรกลางได้ให้โอกาสโจทก์เลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว แม้โจทก์จะแต่งตั้งทนายความใหม่ก็ชอบที่ทนายความคนใหม่เตรียมคดีให้พร้อมก่อนวันนัด หาใช่นำเอาเหตุแห่งการแต่งตั้งทนายความคนใหม่มาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภาษีอากรกลาง พฤติการณ์ของโจทก์ จึงเป็นการประวิงคดี ทั้งคดีได้ความว่าทนายความคนใหม่ก็ได้ซักค้านพยานจำเลยทุกปากที่สืบไปครบถ้วนแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจึงชอบแล้วตาม ป.วิ.พ.และตารางหนึ่งท้าย ป.วิ.พ.หาได้มีบทบังคับว่าในคำฟ้องฉบับเดียวกันนั้นต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท เท่านั้นไม่ แม้ว่ามีข้อหาหลายข้อหาด้วยกัน ดังนั้น ในการพิจารณาว่าคดีใด จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินที่ให้โจทก์ชำระภาษีการค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งเป็นภาษีคนละประเภทและแต่ละประเภทมีจำนวนเงินแยกต่างหากออกจากกันได้จึงเป็นคำฟ้องและฟ้องอุทธรณ์หลายข้อหาซึ่งแต่ละข้อหาสามารถคิดคำนวณจำนวนเงินที่ขอให้เพิกถอนการประเมินแยกต่างหากออกจากกันได้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษี และจำเลยอุทธรณ์ขอให้โจทก์ชำระภาษีดังกล่าวรวมกันมาจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อหาเป็นการหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามฟ้องและจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลตามฟ้อง อุทธรณ์ทุกข้อหาแยกต่างหากจากกัน
โจทก์ซื้อที่ดินจำนวน 66 โฉนด รวมเนื้องที่ 1128 ตารางวาและซื้อที่ดินอีกส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 1051 เนื้อที่ 189 ตารางวาจากบริษัท ส.แล้วเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเวลานานถึง 9 ปี และลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า51,000,000 บาท ก่อสร้างอาคารประกอบกิจการศูนย์อาหาร และต่อมาประสงค์จะขายต่อเอากำไร ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาแล้วขายไปโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าต้องเสียภาษีการค้าจากการขายที่ดินดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 และ 78 ประกอบด้วยบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เพราะการซื้อที่ดินมาเพื่อจะขายหากำไร แม้จะกระทำเพียงครั้งเดียวก็ถือได้ว่าเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้ว
โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องไปในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับดังกล่าวตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 78 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า โดยมิได้นำรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปรวมคำนวณเสียภาษีการค้าด้วย ทั้ง ๆ ที่โจทก์เองก็รู้ดีว่า โจทก์ขายที่ดินไปในทางการค้าหรือหากำไร แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการค้า แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า สาเหตุที่โจทก์ไม่ยื่นชำระภาษีการค้าเนื่องจากไม่เข้าใจข้อกฎหมายดีพอเชื่อได้ว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร และได้ให้ความร่วมมือในชั้นตรวจสอบด้วยดีจึงมีเหตุอันควรผ่อนผันลดเบี้ยปรับภาษีการค้าลงคงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50ของเบี้ยปรับตามกฎหมายก็ดี ก็เป็นความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หามีผลผูกพันให้ศาลต้องถือตามไม่ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีการค้าของโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2)
การประเมินภาษีการค้าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันโอน เมื่อการโอนนั้นมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ (6) สำหรับค่าตอบแทนการโอนที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเท่ากับราคาตารางวาละ 25,000 บาท นั้นเป็นการคิดคำนวณจากราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อจากบริษัท ส.บวกด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12 ต่อปี นับแต่วันที่บริษัท ส.ได้รับเงินไป ค่าตอบแทนดังกล่าวจึงไม่ใช่ราคาตลาดของที่ดิน และเป็นการขายทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดราคาที่ดินตารางวาละ 160,000 บาท โดยเทียบเคียงกับราคาที่ดินซึ่งมีทำเลที่แตกต่างจากที่ดินตามฟ้องเป็นอย่างมาก และนำเอาจำนวนมูลค่าการลงทุนในศูนย์อาหารของโจทก์ ซึ่งต่อมาได้มีการรื้อถอนทิ้งรวมเข้าไปในการคำนวณด้วย ก็เป็นการไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่ราคาตลาด
การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 1129วรรคสาม เมื่อโจทก์ขายหุ้นแล้วมิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด ในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าได้มีการโอนหุ้นไปแล้ว เพื่อใช้ยันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ โจทก์จึงต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมจำนวน ๑๑๘,๙๒๗,๑๗๓.๘๖ บาท
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทำการประเมินภาษีอากรรายพิพาท และการประเมินของเจ้าพนักงานชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด๓๐ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ศาลภาษีอากรกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาประเด็นนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินภาษีการค้าตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า ภ.ค.๘๐ เลขที่ ต.๑/๑๐๕๘/๔/๑๐๒๔๒๔ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ๘๘/๒๕๔๑/สภ.๑ (กม.๔) เฉพาะรายรับจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่๑๑๒๑๑ ถึง ๑๑๒๔๓, ๑๑๒๔๕ ถึง ๑๑๒๗๗ และที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑รวมเนื้อที่ ๑,๓๑๗ ตารางวา จากราคาตารางวาละ ๑๖๐,๐๐๐ บาท เป็นราคาตารางวาละ ๘๐,๐๐๐ บาท และแก้ไขการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ ต.๑/๑๐๕๘/๒/๑๐๐๒๙๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่๘๙/๒๕๔๑/สภ.๑ (กม.๔) เฉพาะรายได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๒๑๑ ถึง๑๑๒๔๓, ๑๑๒๔๕ ถึง ๑๑๒๗๗ และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ รวมเนื้อที่๑,๓๑๗ ตารางวา จากราคาตารางวาละ ๑๖๐,๐๐๐ บาท เป็นราคาตารางวาละ๘๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ก่อนเป็นเบื้องแรกว่า ศาลภาษีอากรกลางสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ดังกล่าวเพิ่งยื่นในวันนัดสืบพยานจำเลยภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘ วรรคสองแล้ว แม้คำร้องดังกล่าวโจทก์จะอ้างว่าได้ตรวจเอกสารและคำเบิกความของพยานโจทก์พบว่ามีพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เป็นพยานสำคัญ ทนายความคนก่อนมิได้ระบุเป็นพยานไว้ และมิได้นำพยานบุคคลเข้าสืบเนื่องจากความป่วยเจ็บของทนายความคนก่อนทำให้เกิดความพลั้งเผลอนั้น เห็นว่า เป็นความบกพร่องหรือเป็นความประสงค์ของทนายความโจทก์คนก่อนเองที่จะสืบพยานเพียงเท่านั้น หาได้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของทนายความโจทก์คนก่อนดังที่โจทก์อ้าง ทั้งโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้เห็นว่าทนายความโจทก์คนก่อนมีอาการป่วยเจ็บถึงกับไม่อาจดำเนินคดีได้ โจทก์จะนำเอาเหตุแห่งการแต่งตั้งทนายความคนใหม่มาเป็นข้ออ้างเพื่อขอระบุพยานเพิ่มเติมหาได้ไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ไว้ ศาลภาษีอากรกลางยกคำร้องของโจทก์ชอบแล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีชอบหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์ว่า ทนายความโจทก์คนใหม่เพิ่มได้รับแต่งตั้งเข้ามาดำเนินคดีมีเอกสารจำนวนมาก ทนายความโจทก์คนใหม่ไม่สามารถชักค้านพยานจำเลยได้เต็มที่ ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เห็นว่า ในวันนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ขอเลื่อนคดีมาแล้วครั้งหนึ่งอ้างว่าทนายความคนก่อนขอถอนตัวยังไม่ได้แต่งตั้งทนายความคนใหม่ จำเลยแถลงคัดค้านว่าได้เตรียมพยานมาพร้อมแล้วไม่ควรให้เลื่อน ศาลภาษีอากรกลางให้เลื่อนสืบพยานจำเลยไปวันที่ ๖ พฤศจิกายน๒๕๔๑ ครั้นถึงวันนัด โจทก์ขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าโจทก์เพิ่งแต่งตั้งทนายความคนใหม่แทนทนายความคนก่อนที่ถอนตัว คดีมีเอกสารมาก ทนายความคนใหม่ไม่สามารถซักค้านพยานจำเลยได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์มีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีชักช้าโดยปราศจากเหตุอันสมควร ทั้ง ๆ ที่ศาลภาษีอากรกลางได้ให้โอกาสโจทก์เลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว แม้โจทก์จะแต่งตั้งทนายความใหม่ก็ชอบที่ทนายความคนใหม่เตรียมคดีให้พร้อมก่อนวันนัด หาใช่นำเอาเหตุแห่งการแต่งตั้งทนายความคนใหม่มาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภาษีอากรกลาง พฤติการณ์ของโจทก์ จึงเป็นการประวิงคดี ทั้งคดีได้ความว่าทนายความคนใหม่ก็ได้ซักค้านพยานจำเลยทุกปากที่สืบไปครบถ้วนแล้ว ไม่ทำให้คดีโจทก์เสียเปรียบดังที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจึงชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อต่อไปมีว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นตามข้อหาทุกข้อชอบหรือไม่และที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มขึ้นเป็นรายข้อหานั้น ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกับอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้ด้วย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และตารางหนึ่งท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาได้มีบทบังคับว่าในคำฟ้องฉบับเดียวกันนั้นต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้นไม่ แม้ว่ามีข้อหาหลายข้อหาด้วยกันดังนั้น ในการพิจารณาว่าคดีใด จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๓) บัญญัติว่า คำฟ้องหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล… ดังนี้การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหาแต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙ ที่โจทก์อ้างก็แสดงให้เห็นเพียงว่าในการที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลในคำฟ้องฉบับหนึ่งนั้นอาจมีข้อหาหลายข้อหาด้วยกั นและให้อำนาจแก่ศาลในการสั่งแยกคดีได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อหาใดข้อหาหนึ่งเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกับข้อหาอื่น ๆ หรือแม้ข้อหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกันแต่ศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อหาใดข้อหาหนึ่งออกจากกันจะเป็นการสะดวก ศาลก็มีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมดหรือแต่ข้อหาใดข้อหาหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปได้เท่านั้น มิได้บังคับว่าที่ศาลสั่งแยกข้อหาแล้วจะเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้ และตามมาตรา ๑๕๐ วรรคสี่ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าในคำฟ้องใดหรือฉบับเดียวกันในกรณีมีหลายข้อหา ย่อมสามารถคิดค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไปได้ซึ่งต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์ในคำฟ้องนั้นเป็นแต่ละข้อหาไปตามมาตรา ๑๗๒ วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินที่ให้โจทก์ชำระภาษีการค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นภาษีคนละประเภทและแต่ละประเภทมีจำนวนเงินแยกต่างหากออกจากกันได้ จึงเป็นคำฟ้องและฟ้องอุทธรณ์หลายข้อหาซึ่งแต่ละข้อหาสามารถคิดคำนวณจำนวนเงินที่ขอให้เพิกถอนการประเมินแยกต่างหากออกจากกันได้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษี และจำเลยอุทธรณ์ขอให้โจทก์ชำระภาษีดังกล่าวรวมกันมาจำนวนเดียว และเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อหาเป็นการหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล กรณีโจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามฟ้องและจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลตามฟ้อง อุทธรณ์ทุกข้อหาแยกต่างหากจากกัน คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่สั่งให้โจทก์และจำเลยเสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม จึงชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ต่อไปมีว่า การที่โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องไปจำนวน ๖๖ แปลง เป็นการขายที่ดินโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ โจทก์มีนายกาญจน์ กาญจนวตี ที่ปรึกษาและผู้ควบคุมดูแลการบัญชีของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อปี ๒๕๒๔ โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๒๑๑ ถึง ๑๑๒๔๓และ ๑๑๒๔๕ ถึง ๑๑๒๗๗ จำนวน ๖๖ โฉนด รวมเนื้อที่ ๑๑๒๘ ตารางวา และที่ดินเนื้อที่ ๑๘๙ ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ จากบริษัทสินพรชัยจำกัด ในราคาตารางวาละ ๑๑,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๔,๔๘๗,๐๐๐ บาท ตามสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.๑๕ แผ่นที่ ๑ ถึง ๕ เพื่อก่อสร้างอาคารใช้เป็นสำนักงานของโจทก์และให้เช่าตามรายงานการประชุมคณะกรรมการโจทก์เอกสารหมาย ล.๓ แผ่นที่ ๕๙ และ ๖๐ ต่อมาบริษัทสินพรชัย จำกัด ไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินเนื้อที่ ๑๘๙ ตารางวา ออกจากโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ นำมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากราชการ ที่ดินเนื้อที่ ๑๘๙ ตารางวา ที่จะแบ่งแยกออกจากโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ เป็นที่ดินคั่นระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๒๑๑ ถึง ๑๑๒๔๓ และ๑๑๒๔๕ ถึง ๑๑๒๗๗ ทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โจทก์กับบริษัทสินพรชัยจำกัด จึงตกลงยกเลิกสัญญาซื้อขายดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.๑๕ แผ่นที่ ๑ ถึง ๕โดยโจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๒๑๑ ถึง ๑๑๒๔๓ และ ๑๑๒๔๕ ถึง ๑๑๒๗๗ คืนให้แก่บริษัทสินพรชัย จำกัด และบริษัทสินพรชัย จำกัด คืนเงินค่าที่ดินดังกล่าวจำนวน๑๔,๔๘๗,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี นับแต่วันที่บริษัทสินพรชัย จำกัด ได้รับเงิน รวมเป็นเงิน ๒๘,๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.๖ แผ่นที่ ๒๐ และ ๒๑ แต่ในการจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินค่าที่ดินดังกล่าวมีราคารวม๓๔,๕๒๐,๐๐๐ บาท และเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย จากโจทก์ ๓๔๕,๒๐๐บาท ตามเอกสารหมาย จ.๑๔ แผ่นที่ ๕ คงมีแต่นายกาญจน์ปากเดียวเบิกความลอย ๆไม่มีพยานอื่นสนับสนุน ทั้งตามรายงานการประชุมปรากฏว่าคณะกรรมการของโจทก์มีมติให้ซื้อที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ ไว้ด้วย และไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาจะก่อสร้างอาคารเป็นอาคารหลังเดียวดังที่โจทก์กล่าวอ้างตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังไม่ได้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพื่อใช้ก่อสร้างเป็นอาคารหลังเดียวและยังได้ความว่าตามสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.๑๕ แผ่นที่ ๑ ถึง ๕ ที่ดินพิพาทรวม ๖๖ โฉนด เป็นที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย ส่วนใหญ่มีเนื้อที่แปลงละ๑๗ ตารางวา ติดต่อเป็นที่ดินผืนเดียวกันแต่ถูกคั่นออกเป็นสี่ส่วนโดยที่ดินที่มีสภาพเป็นทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ ตามแผนผังเอกสารหมาย จ.๑๕ แผ่นที่ ๕กรณีน่าเชื่อได้ว่าที่โจทก์อ้างว่าซื้อที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ เพื่อทำให้เป็นผืนเดียวกันเป็นเรื่องกระทำขึ้นภายหลังนอกเหนือจากมติของคณะกรรมการของโจทก์ที่ให้ซื้อที่ดิน ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีเจตนาขายที่ดินตามฟ้อง แต่เป็นการตกลงประนีประนอมยอมความกับบริษัทสินพรชัย จำกัด เนื่องจากบริษัทสินพรชัย จำกัดไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้จึงตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินและต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมนั้น ขัดกับรายงานการประชุมคณะกรรมการของบริษัทสินพรชัย จำกัด เอกสารหมาย จ.๖ แผ่นที่ ๑๑ และ ๑๒ซึ่งระบุว่าประสงค์จะซื้อที่ดินจากโจทก์และยังขัดกับรายงานการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญของโจทก์เอกสารหมาย จ.๖ แผ่นที่ ๑๓ และ ๑๔ ที่ระบุว่า การขายที่ดินตามฟ้องเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากกว่าการประกอบกิจการศูนย์อาหาร ทั้งในชั้นตรวจสอบ นายกาญจน์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของจำเลย ก็ไม่เคยแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับบริษัทสินพรชัย จำกัด เกี่ยวกับเรื่องที่ดินตามฟ้อง นอกจากนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในข้อ ๒ ระบุว่า ให้บริษัทสินพรชัย จำกัดคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์จำนวน ๑๔,๔๘๗,๐๐๐ บาท ซึ่งแตกต่างจากรายงานการประชุมคณะกรรมการของบริษัทสินพรชัย จำกัด เอกสารหมาย จ.๖ แผ่นที่ ๑๑ และ ๑๒ที่ระบุว่า บริษัทสินพรชัย จำกัด ต้องใช้ราคาให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒๘,๒๐๐,๐๐๐ บาททั้งตามรายงานการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญของโจทก์เอกสารหมาย จ.๖ แผ่นที่ ๑๓และ ๑๔ ที่ระบุว่าโจทก์ได้รับชำระราคาที่ดินเนื้อที่รวม ๑,๓๑๗ ตารางวา ในราคาตารางวาละ ๒๕,๐๐๐ บาท ซึ่งคำนวณได้เป็นเงิน ๓๒,๙๒๕,๐๐๐ บาท จากข้อเท็จจริงและเหตุผลต่าง ๆ ดังวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามฟ้องและเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเวลานานถึง ๙ ปี และลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า๕๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ก่อสร้างอาคารประกอบกิจการศูนย์อาหาร และต่อมาประสงค์จะขายต่อเอากำไร ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาแล้วขายไปโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าต้องเสียภาษีการค้าจากการขายที่ดินดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๗ และ ๗๘ ประกอบด้วยบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า ๑๑ การค้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบการค้า ต่อมาหมดความจำเป็นจึงขายไปย่อมถือไม่ได้ว่ากระทำเป็นทางการค้านั้น เห็นว่า คำว่า ขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร หาได้หมายความดังที่โจทก์อ้างไม่ กล่าวคือ หากมีการซื้อที่ดินมาเพื่อจะขายหากำไร ซึ่งเรียกว่าการค้าแล้ว แม้จะกระทำเพียงครั้งเดียวก็ถือได้ว่าเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ต่อไปมีว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องไปในทางการค้าหรือหากำไรดังได้วินิจฉัยแล้วนั้นเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า ๑๑ ซึ่งกำหนดให้ผู้ขายอสังริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรต้องเสียภาษีการค้า โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับดังกล่าวตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า โดยมิได้นำรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปรวมคำนวณเสียภาษีการค้าด้วย ทั้ง ๆ ที่โจทก์เองก็รู้ดีว่า โจทก์ขายที่ดินไปในทางการค้าหรือหากำไร แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการค้าแม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เห็นว่า สาเหตุที่โจทก์ไม่ยื่นชำระภาษีการค้าเนื่องจากไม่เข้าใจข้อกฎหมายดีพอ เชื่อได้ว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร และได้ให้ความร่วมมือในชั้นตรวจสอบด้วยดี จึงมีเหตุอันควรผ่อนผันลดเบี้ยปรับภาษีการค้าลงคงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ ๕๐ ของเบี้ยปรับตามกฎหมายก็ดี ก็เป็นความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หามีผลผูกพันให้ศาลต้องถือตามไม่ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีการค้าของโจทก์ได้ภายในกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา ๘๘ ทวิ (๒) เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีการค้าของโจทก์ภายในกำหนด ๑๐ ปี การประเมินจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยต่อไปมีว่าการประเมินราคาที่ดินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายและถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าศาลภาษีอากรกลางกำหนดราคาที่ดินตารางวาละ ๘๐,๐๐๐ บาท สูงเกินไป ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดราคาที่ดินตารางวาละ ๘๐,๐๐๐ บาทต่ำเกินไป ควรจะมีราคาตารางวาละ ๑๖๐,๐๐๐ บาท ตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน เพราะเป็นราคาตลาด เห็นว่า ในการประเมินภาษีการค้าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันโอน เมื่อการโอนนั้นมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๘๗ ทวิ (๖) สำหรับค่าตอบแทนการโอนที่ดินตามฟ้องที่นายกาญจน์พยานโจทก์อ้างว่าเท่ากับราคาตารางวาละ ๒๕,๐๐๐ บาทนั้น เป็นการคิดคำนวณจากราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อจากบริษัทสินพรชัย จำกัด บวกด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี นับแต่วันที่บริษัทสินพรชัย จำกัด ได้รับเงินไป ดังนั้น ค่าตอบแทนดังกล่าวจึงไม่ใช่ราคาตลาดของที่ดิน การที่โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องโดยไม่รวมสิ่งปลูกสร้างในราคาตารางวาละ๒๕,๐๐๐ บาท โดยใช้วิธีการคิดราคาที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการขายทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินกำหนดราคาที่ดินที่โจทก์ขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๗ ทวิ (๖) ก็ตาม แต่ที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดราคาที่ดินตารางวาละ ๑๖๐,๐๐๐ บาท โดยเทียบเคียงกับราคาที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๑๖๔ และ ๑๑๑๕๓ ซึ่งเป็นตึกแถวสี่ชั้น สองคูหาตั้งอยู่หน้าโรงแรม อันเป็นทำเลที่แตกต่างจากที่ดินตามฟ้องเป็นอย่างมาก การกำหนดราคาดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้กำหนดตามราคาตลาดแล้วยังปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินได้นำเอาจำนวนมูลค่าการลงทุนในศูนย์อาหารของโจทก์ ซึ่งต่อมาได้มีการรื้อถอนศูนย์อาหารทิ้งรวมเข้าไปในการคำนวณด้วย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ราคาตลาด เมื่อพิเคราะห์ราคาตามบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย จ.๑๔แผ่นที่ ๑ ระบุว่าที่ดินบริเวณติดถนนเพชรบุรี ในระยะ ๒๐ เมตร ราคาตารางวาละ๘๐,๐๐๐ บาท ได้ความว่า ที่ดินตามฟ้องถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๑ซึ่งเป็นที่ดินติดถนนเพชรบุรี บริเวณใกล้เคียงมีศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและธนาคารตั้งอยู่ และตามคำเบิกความของนางสาวอรัญญา กาญจนพิพัฒน์กุล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประเมินราคาทรัพย์สินว่า ราคาประเมินของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินจะมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดประมาณร้อยละ ๒๐ ถึง ๓๐ ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดที่ดินตามฟ้องมีราคาตลาดตารางวาละ ๘๐,๐๐๐ บาทนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ต่อไปมีว่า เงินปันผลจากหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด จำนวน ๑,๓๓๐,๐๐๐ บาท เป็นรายได้ของโจทก์หรือไม่โจทก์อ้างว่าได้ขายหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด แต่ไม่ได้ไปจดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด จึงจ่ายเงินปันผลให้แก่โจทก์ต่อมาโจทก์ก็ได้คืนเงินปันผลจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์จำกัด แล้ว เห็นว่า การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม เมื่อโจทก์เองก็ยอมรับว่า การขายหุ้นดังกล่าวมิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัดในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าได้มีการโอนหุ้นไปแล้ว เพื่อใช้ยันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น โจทก์จึงต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.