แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่ฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด เมื่อข้อความในสัญญากู้ยืมเงินทั้งฉบับไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 ผู้กู้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในสัญญาดังกล่าว จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำขึ้นเพื่อเจตนาให้เป็นสัญญาหุ้นส่วนเพื่อค้าขายที่ดินและแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกัน โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ช่วยลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวเพื่อรับรองว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการตกลงเพื่อดำเนินกิจการเป็นหุ้นส่วนค้าขายที่ดินแบ่งปันผลประโยชน์กันจริง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงินโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจริงแต่มิได้มีเจตนากู้เงิน ความจริงจำเลยที่ 1 ได้ชักชวนให้โจทก์เข้าหุ้นทำการค้าขายที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ โจทก์ตกลงเข้าหุ้นกับจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ในวันทำสัญญาไม่มีการมอบเงิน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารท้ายฟ้องจริง แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 โดยก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันเป็นนายหน้าจัดหาซื้อที่ดินมาเสนอขายให้จำเลยที่ 1 หากการซื้อขายที่ดินสำเร็จ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะได้ผลประโยชน์กันคนละ 2,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 จะได้ผลประโยชน์ที่เหลือทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวรับรู้ว่าได้มีการเข้าหุ้นกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะต้องแบ่งผลประโยชน์เป็นเงิน 450,000 บาท ให้โจทก์ แต่ปรากฏว่าการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไม่สำเร็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ลงลายมือชื่อในสัญญาใต้ข้อความว่า “ลงนามรับรอง” ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินในช่องผู้กู้เงินระบุชื่อนางสายชล ชาญณรงค์ (จำเลยที่ 1) ในช่อง ผู้ค้ำประกันระบุชื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียน ในช่องจำนวนเงินกู้ระบุตัวเลข 300,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกัน แต่ได้ลงลายมือชื่อใต้คำว่า “ลงนามรับรอง” ท้ายสัญญากู้ เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 6 มีสาระสำคัญในข้อ 4 ระบุว่า “เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินนี้ ผู้กู้ได้นำเอกสารสำคัญในการรับผลประโยชน์จากการหัก โอน ซื้อ ขาย ที่ดินโฉนดแปลงที่ 11431 ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จจึงจะมอบส่วนที่เป็นผลประโยชน์ส่วนเกินทั้งหมดรวมเงินต้นแล้ว เป็นเงินในจำนวน 450,000 บาทถ้วนแล้ว จึงลงนามรับรองโดยชอบทั้งสิ้นมี 4 บุคคลร่วมลงนามตามเบื้องต้น
” ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นำสืบต่อสู้ว่า การลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ มิใช่เป็นการค้ำประกันเงินกู้ แต่ลงลายมือชื่อรับรู้การเข้าหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และหากเมื่อจำเลยที่ 1 ได้มีการซื้อขายที่ดินกำไรมาแล้ว จะต้องแบ่งผลประโยชน์ให้โจทก์ด้วย ฉะนั้น ในช่องผู้ค้ำประกันเหนือหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับข้อความในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้อ 4 และที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ลงลายมือชื่อใต้คำว่า ลงนามรับรอง ดูแล้วไม่อาจเชื่อมโยงแสดงให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ลงลายมือชื่อในลักษณะของผู้ค้ำประกันการกู้ยืม แต่หนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้อ 4 กลับมีความหมายว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ได้ซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 11431 และมีการหักโอนเงินซื้อขายที่ดินแปลงนี้แล้ว โจทก์ผู้ให้กู้จะได้ต้นเงินและผลประโยชน์ตอบแทนรวมเป็นเงินตามที่ระบุนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงได้ลงลายมือชื่อรับรองในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งนางหนูเทียน จันทร์รักงาม ภริยาโจทก์เบิกความว่า เหตุไม่ให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันไว้ด้านหลังหนังสือกู้ยืมเงิน เพราะคิดว่าทำไว้ด้านหน้าก็เหมือนกัน โจทก์เบิกความว่า การทำสัญญากู้รายอื่น ๆ พยานจะให้ผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้ ส่วนผู้ค้ำประกันจะให้ทำสัญญาไว้ต่างหาก ฉะนั้นการที่โจทก์และนางหนูเทียนภริยาโจทก์มีอาชีพปล่อยเงินกู้ย่อมจะรู้ดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ถึง 300,000 บาท ถือว่าเป็นจำนวนมาก แต่เหตุใดจึงไม่ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันด้านหลังหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอย่างกับที่เคยปฏิบัติต่อผู้กู้และผู้ค้ำประกันรายอื่น ๆ นับได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย อันสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกัน มีความรับผิดแต่ฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด เมื่อข้อความในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้งฉบับไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 ผู้กู้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.