คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าสินค้าไม่ส่งมอบให้โจทก์อันเป็นความเสียหายจากการทำงาน ซึ่งจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน และอธิบดีผู้พิพากษาแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ในส่วนนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานแล้วก็ตาม แต่เมื่อต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดดังกล่าว ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากการทำงานและความผิดของจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงาน จึงระงับสิ้นไป ทั้งฟ้องของโจทก์ก็บรรยายว่าโจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันฉบับหลัง คือหนี้ที่เกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่ขอให้บังคับตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวนฐานผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 2,343,457.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การกับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าตอบแทนการขาย และค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 5,229,000 บาท แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 5 เฉพาะเรื่องความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงาน ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เรื่องความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 1 นำสินค้าของโจทก์ไปขายให้แก่ลูกค้าแล้วเก็บเงินค่าสินค้ามาแต่ไม่ส่งมอบให้โจทก์ โดยเบียดบังไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนเป็นเงิน 2,343,457.28 บาท กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์เป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าคดีสำหรับจำเลยดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวนเงิน 2,231,257.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องและนำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และต่อมาจำเลยที่ 1 กระทำการยักยอกเงินค่าสินค้าของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ อันเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำงานซึ่งจำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ในส่วนนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานก็ตาม แต่ปรากฏว่าต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและขอผ่อนชำระแก่โจทก์ จึงเป็นผลให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่เกิดจากการทำงานระงับสิ้นไป และทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 852 และเมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เปลี่ยนมาเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปเนื่องจากการระงับสิ้นไปของหนี้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ดังจะเห็นได้ว่าแม้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้ว โจทก์ยังต้องให้จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดในหนี้อันเกิดจากสัญญาประนีประยอมความของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 5 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้ว ทั้งฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันฉบับหลัง มิใช่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ดังนั้น ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 อีกหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานจึงไม่ชอบและเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ส่วนจำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ก็เห็นว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าคดีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความของจำเลยที่ 5 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 5 ในศาลที่มีอำนาจต่อไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share