แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองโดยไม่มีสิทธิจำเลยให้การโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ของคดีไม่เกินสามแสนบาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนครปฐมที่จะพิจารณาพิพากษา แม้ศาลจังหวัดนครปฐมสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีคำพิพากษาศาลจังหวัดนครปฐมชอบที่จะมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
ศาลจังหวัดนครปฐมได้รับฟ้องไว้พิจารณาและดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จและอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่เมื่อปรากฏภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง (4) ไม่ใช่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนครปฐม ศาลจังหวัดนครปฐมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามมาตรา 18 ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลจังหวัดนครปฐมที่จะใช้ดุลพินิจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป การที่ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงนครปฐมชอบด้วยมาตรา 16 วรรคท้ายแล้ว ผู้พิพากษาศาลแขวงนครปฐมจึงมีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครปฐมว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 240 ทางด้านทิศใต้เนื่อที่ 2 ไร่เศษ โดยได้รับการยกให้จากนายฉาย พรมแสง บิดาของสามีโจทก์ ส่วนจำเลยมีชื่อถือสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยรับมรดกมาจากนายฉาย พรมแสง ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2546 จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อออกโฉนด และรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยจำเลยไม่มีสิทธิโจทก์คัดค้านการรังวัด เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีความเห็นว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยและได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยทราบว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินจึงได้สิทธิในที่ดินโดยไม่สุจริต ไม่อาจใช้สิทธิดังกล่าวยันโจทก์ได้ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 240 หมู่ 2 ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เฉพาะส่วนทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 20 เนื้อที่ 33 ไร่ 70 ตารางวา จากนายอาจ กุลอภิญญ์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539 และได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวและนายฉายไม่ได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดนครปฐมดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จ ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา ศาลจังหวัดนครปฐมเห็นว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงนครปฐม จึงมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
ศาลแขวงนครปฐมพิจารณาแล้วเห็นว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย ที่ให้อำนาจศาลจังหวัดมีคำสั่งให้โอนคดีมายังศาลแขวงใช้เฉพาะในชั้นตรวจรับคำฟ้องเท่านั้น คดีนี้ศาลจังหวัดนครปฐมรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาแล้ว แม้ต่อมาจะปรากฏว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ศาลจังหวัดก็ยังมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ ทั้งคดีนี้ศาลจังหวัดนครปฐมได้สืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ผู้พิพากษาศาลแขวงนครปฐมจึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้ ประกอบกับมาตรา 18 ของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมบัญญัติว่า “ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น” ซึ่งคำว่าศาลยุติธรรมอื่นน่าจะหมายถึงศาลชำนัญพิเศษเท่านั้นไม่รวมถึงศาลแขวงด้วย จึงมีคำสั่งไม่รับโอนคดีจากศาลจังหวัดนครปฐม
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยรับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งศาลแขวงนครปฐมที่ไม่รับโอนคดีนี้จากศาลจังหวัดนครปฐมชอบหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองโดยไม่มีสิทธิ จำเลยให้การโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลจังหวัดนครปฐมเห็นว่าราคาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ของคดีไม่เกินสามแสนบาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนครปฐมที่จะพิจารณาพิพากษา แม้ศาลจังหวัดนครปฐมจะได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่ตราบใดที่ศาลจังหวัดนครปฐมยังมิได้มีคำพิพากษา ศาลจังหวัดนครปฐมชอบที่จะมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย ที่ศาลแขงนครปฐมวินิจฉัยว่าพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย ที่ให้อำนาจศาลจังหวัดมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงใช้เฉพาะในชั้นตรวจรับคำฟ้องไม่นำมาใช้กับกรณีนี้นั้น ไม่ถูกต้อง ส่วนที่ศาลแขวงนครปฐมวินิจฉัยว่า ศาลจังหวัดนครปฐมรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาแล้ว แม้ต่อมาจะปรากฏว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ศาลจังหวัดนครปฐมก็ยังมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ ทั้งศาลจังหวัดนครปฐมได้สืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ผู้พิพากษาศาลแขวงนครปฐมจึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า แม้ศาลจังหวัดนครปฐมจะได้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จและอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาก็ตาม แต่เมื่อปรากฏภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง (4) ไม่ใช่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนครปฐมเสียแล้ว ศาลจังหวัดนครปฐมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลจังหวัดนครปฐมที่จะใช้ดุลพินิจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปดังที่ศาลแขวงนครปฐมวินิจฉัย ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งโอนคดีเรื่องนี้ไปยังศาลแขวงนครปฐมซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้นั้น เป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้ายแล้ว และเมื่อศาลแขวงนครปฐมจะเป็นผู้พิจารณาคดีนี้ต่อไป ผู้พิพากษาศาลแขวงนครปฐมจึงมีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้ ที่ศาลแขวงนครปฐมวินิจฉัยว่าผู้พิพากษาศาลแขวงนครปฐมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้และมีคำสั่งไม่รับโอนคดีนั้นเป็นการไม่ชอบ”
พิพากษายกคำสั่งศาลแขวงนครปฐม ให้ศาลแขวงนครปฐมรับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.