แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ข้อ 4 กำหนดว่า “ให้รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานไม่เกินสัปดาห์ละสี่สิบแปดชั่วโมง” ข้อ 25 กำหนดว่า”ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติที่รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดตามข้อ 4 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน…” ข้อ 26 กำหนดว่า”ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานปกติ” และข้อ 28 กำหนดว่า “พนักงานซึ่งรัฐวิสาหกิจให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และ ข้อ 26
(1) …
(2) งานขนส่ง
ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน”ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว หมายความว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจสั่งให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราหนึ่งเท่าครึ่ง หรือถ้าสั่งให้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน แต่ถ้างานที่ทำเกินเวลานั้นเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 28 พนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน
รัฐวิสาหกิจจำเลยกำหนดให้พนักงานทำงานปกติสัปดาห์ละ 6 วันเวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง รวมแล้วสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ไม่เกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 4 เมื่อโจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงาน จึงถือเป็นการทำงานล่วงเวลา แต่งานขับรถยนต์โดยสารและเก็บค่าโดยสาร ที่โจทก์ทำนั้นเป็นงานขนส่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 แม้จำเลยได้ตกลงให้เงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารแก่พนักงานที่ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง แต่ข้อตกลงนี้ก็มิใช่เป็นการตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 28 ตอนท้ายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาจากจำเลย
ย่อยาว
คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 7
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 59,052.93 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 36,375 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 46,440 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 144,180 บาทโจทก์ที่ 5 จำนวน 39,960 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 39,960 บาท โจทก์ที่ 7จำนวน 55,712.81 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์โดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถยนต์โดยสารประจำทางลักษณะเป็นงานขนส่ง ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตาม ข้อ 28 (2) ของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยมีข้อตกลงจ่ายเงินจากส่วนแบ่งค่าโดยสารแก่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารตามคำสั่งจำเลยที่ 213/2525 และที่ 634/2535 ซึ่งถือเป็นการจ่ายค่าล่วงเวลาและโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าโดยสารตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาจากจำเลยอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ข้อ 4 กำหนดว่า “ให้รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานไม่เกินสัปดาห์ละสี่สิบแปดชั่วโมง” ข้อ 25 กำหนดว่า “ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติที่รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดตามข้อ 4 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน…” ข้อ 26 กำหนดว่า “ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานปกติ” และข้อ 28 กำหนดว่า”พนักงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และ ข้อ 26
(1) …
(2) งานขนส่ง
ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน”ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว หมายความว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจสั่งให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราหนึ่งเท่าครึ่ง หรือถ้าสั่งให้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน แต่ถ้างานที่ทำเกินเวลานั้นเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 28 พนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน คดีนี้จำเลยกำหนดให้พนักงานทำงานปกติสัปดาห์ละ 6 วัน เวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง รวมแล้วสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ไม่เกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 4 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานดังรายละเอียดตามตารางการทำงานและจ่ายค่าจ้าง จึงถือเป็นการทำงานล่วงเวลาแต่งานขับรถยนต์โดยสารและเก็บค่าโดยสารที่โจทก์ทั้งเจ็ดทำนั้นเป็นงานขนส่งโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 28 แม้จำเลยได้ตกลงให้เงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารแก่พนักงานที่ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ตามคำสั่งจำเลยที่ 213/2525 และคำสั่งจำเลยที่ 634/2535 แต่ข้อตกลงนี้ก็มิใช่เป็นการตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งเจ็ด อันจะทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 28 ตอนท้ายดังกล่าว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามฟ้องจากจำเลย
พิพากษายืน.