แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2486 มาตรา 14 และกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตาม พ.ร.บ.นี้ข้อ 1 ว่าผู้ขอจดทะเบียนการได้มา ซึ่งกรรมสิทธิที่ดินที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิแล้วตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1382 ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิในที่ดินนั้น ฉะนั้นการที่ผู้ครอบครองที่ดินจนได้กรรมสิทธิตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1382 แล้ว แม้ที่ดินนั้นจะมีชื่อผู้อื่นในโฉนด ผู้ครอบครองก็ย่อมจะยื่นคำร้องต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ดินแปลงนั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องผู้มีชื่อในโฉนดนั้นมาเป็นจำเลยอย่างคดีมีข้อพิพาท แต่ถ้าผู้มีชื่อในโฉนดร้องคัดค้านเข้ามาศาลก็ย่อมสั่งว่าคดีกลายเป็นมีข้อพิพาทให้เสียกค่าธรรมเนียมและดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.ม.วิ.แพ่ง ฯ มาตรา 188 ข้อ 4
ย่อยาว
คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านกับพวกได้ตกลงขายที่ดินมีโฉนด ๓ แปลงให้แก่ผู้ร้องโดยตกลงจะทำการโอนณหอทะเบียนที่ดินภายหลัง ผู้ร้องได้ชำระเงินราคาที่ดินให้ไปแล้ว และได้รับมอบที่ดินและโฉนดครอบครองอย่างเจ้าของมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว ผู้คัดค้านกับพวกได้อพยพไปอยู่ที่อื่น ไม่ทราบว่าแห่งใด จึงได้ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่ดินทั้ง ๓ แปลงนั้น ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิและให้เจ้าพนักงานแก้ทะเบียนทำการโอนให้แก่ผู้ร้องด้วย
ผู้คัดค้านทั้ง ๔ ยื่นคำร้องคัดค้านว่าไม่เคยขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้อง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้ผู้ร้องชนะ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องไม่ยื่นฟ้องขอเรียกผู้มีชื่อในโฉนดที่จะขอถอนชื่อออกมาเป็นจำเลย กลับมายื่นคำร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทนั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา ฯลฯ จึงพิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ฯลฯ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเช่นนี้มี พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉะบับที่ ๗) พ.ศ.๒๔๘๖ มาตรา ๑๔ และกฎกระทรวงมหาดไทยออกตาม พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉะบับที่ ๗) ๒๔๘๖ ข้อ ๑ ว่า ผู้ขอจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิที่ดินที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิแล้วตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๑๓๘๒ ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล แสดงว่าตนมีกรรมสิทธิดังกล่าวนั้น ผู้ร้องจึงร้องขอให้แสดงว่าตนมีกรรมสิทธิได้ตามกฎกระทรวงที่กล่าวนี้ และเมื่อผู้คัดค้านร้องคัดค้านมา ศาลชั้นต้นได้สั่งว่าคดีกลายเป็นมีขอพิพาทให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มตามทุนทรัพย์ อย่างคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องก็ได้ปฏิบัติการตามคำสั่งศาลแล้วด้วย จึงไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการฟ้องใหม่
ส่วนข้อเท็จจริงคงฟังได้ตามศาลล่างว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของเกิน ๑๐ ปีแล้วจริง จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น