แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยถูกฟ้องยังศาลทหารฐานทำร้ายร่างกายและศาลพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ต่อมาอัยการยังฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายอีก โดยเอาการทำร้ายร่างกายครั้งเดียวกันนั่นเองมาเป็นองค์ความผิดของคดีหลังนี้ด้วย ดังนี้ ต้องถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจเข้าไปในห้องพักอาศัยของนางอุไรโดยไม่มีเหตุสมควร โดยเข้าไปด่าต่อว่านางอุไรเรื่องบุตรทะเลาะกัน และไม่ยอมออกไป เมื่อนางอุไรได้ห้ามมิให้เข้าและได้ไล่ออกไป การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปนั้น จำเลยยังได้บังอาจทุบและชกต่อยนางอุไรบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ และนับโทษต่อจากคดีดำที่ ๑๒๐๔/๒๕๐๔ ของศาลทหารกรุงเทพ
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพ ฯ ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายและศาลทหาร ฯ ได้ตัดสินลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดแล้วตามคดีแดงที่ ๑๗๑๕/๐๔ โจทก์ฟ้องคดีนี้ ฐานบุกรุก ใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยเป็นกรรม และวาระเดียวกับการทำร้ายร่างกาย โจทก์จะฟ้องอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓+
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยกลับให้การรับสารภาพ แต่คงต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานและแถลงรับว่า คดีในข้อหาฐานบุกรุกนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับข้อหาฐานทำร้ายร่างกาย คดีแดงที่ ๑๗๑๕/๒๕๐๔ แต่เนื่องจากข้อหาฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ฯ โจทก์จึงแยกฟ้องคดีฐานนั้นต่อศาลทหาร ฯ ส่วนข้อหาฐานบุกรุกอยู่ในอำนาจของศาลอาญาโจทก์ฟ้องที่ศาลอาญา
ศาลอาญาวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙ (๔) อ้างฎีกาที่ ๑๖๘/๒๔๙๙ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายศาลทหาร ฯ ได้พิพากษาลงโทษจำเลยเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์กลับนำเอามาฟ้องอีกโดย (เอา) รวมเข้าเป็นองค์ความผิดฐานบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ หากศาลพิพากษาลงโทษให้ก็จะต้องลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายซ้ำอีก โจทก์นำความผิดที่ฟ้องแล้วมาฟ้องใหม่ไม่ว่าจะรวมอยู่ในความผิดฐานใด ก็ต้องถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔) เรื่องนี้ต่างกับฎีกาที่โจทก์อ้าง (๑๖๘๘/๒๔๙๘,๑๗๔๒/๒๔๙๔) เพราะตามฟ้องจะแยกความผิดฐานทำร้ายร่างกายออกไม่ได้
พิพากษายืน