แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 มาตรา 10 มิได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่าเมื่อปรากฎว่าผู้ใดมีสิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัดหรือเป็นสิ่งลักลอยหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำเข้ามาโดยลักลอบหนีศุลกากร หากแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พบเห็นข้อนี้เป็นข้อสันนิษฐานข้อแรก ส่วนข้อสันนิษฐานว่าผู้มีสิ่งนั้นไว้ในครอบครองเป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบ ฯ นั้น เป็นเพียงพอที่สืบเนื่องจากข้อสันนิษฐานข้อแรกนั้น
ข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติที่กล่าวนั้น อย่างน้อยจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมพอจะแสดงเค้ามูลว่าผู้มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร
บันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งไว้แต่ว่า ตำรวจได้ตรวจค้นบ้านจำเลย ค้นพบสิ่งของบรรจุอยู่ในกระสอบ ได้สอบถามจำเลย จำเลยว่ารับฝากไว้จากชายไม่ทราบชื่อ บรรทุกรถมา 1 คัน ตอนเช้าวันนั้นเอง ตำรวจสงสัยว่าเป็นสินค้าที่หลบหนีศุลกากร จึงยึดสินค้าและคุมตัวจำเลยมาดำเนินคดี เพียงเท่านี้ย่อมไม่มีลักษณะเป็นบันทึกอันจะก่อให้เกิดข้อสันนิษฐานตามมาตรา 10 ที่กล่าวนั้น และเมื่อเป็นดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยร่วมกับผู้อื่นนำสินค้าเหล่านั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโจทก์ก็ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย และจะลงโทษจำเลยได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เพียงพอให้ฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามข้อหา
ถ้าศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายจึงมิได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ คงวินิจฉัยแต่ของจำเลยแล้วฟังว่าจำเลยมีความผิดลงโทษจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแต่ก็เอาข้อสันนิษฐานนั้นมาประกอบด้วย แล้วจึงฟังว่าจำเลยมีความผิดและพิพากษายืน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ากรณีแห่งคดีนี้ไม่มีข้อสันนิษฐานของกฎหมาย และเห็นว่าศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยโดยชอบด้วยวิธีพิจารณา ศาลฎีกาก็ไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลล่าง แต่พึงวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ตามพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยได้นำสืบมาแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้และจำเลยที่ศาลลงโทษไปแล้วตามคดีแดงที่ +/๒๕๐๕กับพวกได้ร่วมกระทำความผิดสมคบกันนำสินค้า พุทราจีน ลูกพลับแห้ง ดอกไม้จีน เป๋าฮื้อ และพริกไทยขาว รวมราคา ๒๕๗,๗๘๐ บาท ซึ่งยังมิได้เสียภาษีศุลกากร เป็นเงินอากรที่จะต้องเสีย ๓๔๘,๖๔๘ บาท เข้ามาในราชอาณาจักรโดยนำมาทางทะเล และลักลอบนำขึ้นบก ณ ชายทะเลอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วจำเลยกับพวกสมคบร่วมกันนำสินค้าดังกล่าวบรรทุกรถยนต์ไปเก็บซ่อนไว้ที่โกดังเอี่ยมยิ่งพาณิชย์ ตำบลช่องนนทรีอำเภอยานนาวา พระนคร ซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยเป็นผู้จัดการดูแลรักษาสินค้า สินค้าดังกล่าวเป็นอาหารอันเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยกับพวกมิได้อนุญาต กันมิได้ผ่านด่านศุลกากรไทยถูกต้องทั้งนี้ โดยจำเลยกับพวกเจตนาหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดทั้งปวงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๖,๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๗๑ มาตรา ๓ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๐ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ พ.ศ.๒๔+ มาตรา๓,๙ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า สินค้าของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลย และเห็นว่าพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา + บัญญัติว่าบุคคลใดมีไว้ในความครอบครองซึ่งของต้องห้ามหรือของซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นของต้องจำกัดหรือเป็นของลักลอบหนีศุลกากรจะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้นำของนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากรแล้วแต่กรณี ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น จำเลยอ้างว่า ได้รับฝากไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นของหนีภาษี จำเลยต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้นหักล้างไม่ได้ย่อมมีความผิดฐานนำสินค้าต้องห้ามและหลบหนีภาษีศุลกากรเข้ามา ตามบทมาตราที่โจทก์อ้าง ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๔ ปี ตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ ซึ่งเป็นบทหนัก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
๑. พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๐ ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่ขอแจ้งไว้ในบันทึกของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พบเห็นข้อนี้เป็นข้อสันนิษฐานข้อแรก ส่วนข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่มีสิ่งนั้น (สิ่งซึ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องจำกัดหรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากร) ไว้ในครอบครอง เป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากรนั้น เป็นเพียงผลที่สืบเนื่องจากข้อสันนิษฐานข้อแรกนั้น ดังนี้ จึงมีปัญหาต่อไปว่า ข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกควรจะมีอะไรบ้าง เมื่อพิจารณาระเบียบปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ ประกอบด้วยแล้ว ก็เห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงเหล่านั้นอย่างน้อยจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมพอจะแสดงเค้ามูลว่าผู้มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร
๒. คดีนี้ โจทก์นำสืบแสดงบันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจฉบับหนึ่ง ข้อความที่จดแจ้งไว้มีใจความแต่ว่า ตำรวจได้ตรวจค้นบ้านจำเลย ค้นพบสิ่งของดังที่กล่าวในฟ้องบรรจุอยู่ในกระสอบให้ได้สอบถามจำเลย จำเลยว่ารับฝากไว้จากชายไม่ทราบชื่อ บรรทุกรถมา ๑ คัน ตอนเช้ามืดวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๕ ตำรวจสงสัยว่าเป็นสินค้าที่หลบหนีศุลกากร จึงยึดสินค้าและคุมตัวจำเลยเพื่อดำเนินคดี ดังนี้ บันทึกนั้นจึงมีลักษณะเป็นเพียงบันทึกการตรวจค้นจับกุมอย่างในคดีอื่น ๆ ทั่วไป ไม่มีลักษณะเป็นบันทึกอันจะก่อให้เกิดข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตราที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น เรื่องหน้าที่นำสืบก็ดี การวินิจฉัยพยานหลักฐานก็ดี ย่อมเป็นไปตามหลักที่ใช้ทั่วไป แก่คดีอาญาทั้งปวง คือ โจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย และจะลงโทษจำเลยให้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เพียงพอให้ฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามข้อหา
๓. ปรากฎว่า ศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายจึงมิได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ คงวินิจฉัยแต่ของจำเลยฝ่ายเดียว แล้วฟังว่าจำเลยมีความผิด ส่วนศาลอุทธรณ์แม้จะได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย แต่ก็นำเอาข้อสันนิษฐานของกฎหมายประกอบด้วยจึงฟังว่าจำเลยมีความผิด เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า กรณีแห่งคดีนี้ไม่มีข้อสันนิษฐานของกฎหมาย และเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยโดยชอบด้วยวิธีพิจารณาศาลฎีกาก็ไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลล่างทั้งสอง แต่พึงวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ตามพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบกันมาแล้ว
เมื่อได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์นั้นไม่พอฟังว่า จำเลยร่วมกระทำผิดดังที่โจทก์กล่าวหา จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์