แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขนส่งและขนถ่ายปุ๋ยบรรจุกระสอบ โดยนำสินค้าบรรทุกเรือลำเลียงขนส่งต่อไปยังคลังสินค้าปลายทางที่จำเลยทั้งสองกำหนด แต่จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์ไม่นำส่งใบตราส่งหรือตั๋วเรือ และใบรับรองน้ำหนักสินค้าเข้าคลังจากคลังสินค้าตามสัญญาให้ฝ่ายจำเลย โจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อนำมาหักกลบลบหนี้แล้ว โจทก์กลับต้องเป็นฝ่ายชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 กลับมิได้ฟ้องแย้งเพื่อคำขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินส่วนนี้ เป็นแต่ต่อสู้หรือเถียงว่าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วนขอให้ยกฟ้องเท่านั้น แม้จะไม่มีฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แต่ศาลยังคงต้องมีประเด็นปัญหาวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ส่งมอบปุ๋ยขาดจำนวนหรือไม่ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 นำสืบได้ว่า กรณีมีปุ๋ยสูญหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของโจทก์แล้ว โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งย่อมจำต้องรับผิดในการสูญหายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และแม้จำเลยที่ 1 จะให้การต่อสู้เพียงว่าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วนขอให้ยกฟ้อง โดยมิได้ฟ้องแย้งไว้ก็ตาม แต่ศาลยังจำต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ส่งมอบปุ๋ยขาดจำนวนหรือไม่ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ขนสินค้าปุ๋ยส่งมอบยังคลังสินค้าทั้งสองแห่งครบถ้วนตามสัญญาแล้ว เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าระวางเรือลำเลียงส่วนที่เหลือและค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียง ส่วนที่ค้างกับค่าขนย้ายสินค้าจากโกดังแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,163,190 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,163,190 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤษภาคม 2557) ต้องไม่เกิน 161,810.90 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในอนาคตในศาลชั้นต้น 100 บาท แก่โจทก์ และในชั้นอุทธรณ์ 100 บาท แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างให้โจทก์ขนถ่ายปุ๋ยบรรจุกระสอบ น้ำหนักรวม 10,500 ตัน จากเรือบรรทุกสินค้า M.V. AOLI 6 ซึ่งจอดทอดสมอที่ท่าเรือเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ไปยังคลังสินค้าของบริษัทซี เค เอส สหอุตสาหกรรม จำกัด และคลังสินค้าของบริษัทบางปะอินไซโล จำกัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา คือ ค่าระวางเรือลำเลียงอัตราตันละ 95 บาท คิดเป็นเงิน 997,500 บาท ชำระล่วงหน้าแล้ว 498,750 บาท ค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าอัตราตันละ 40 บาท คิดเป็นเงิน 420,000 บาท ชำระล่วงหน้าแล้ว 210,000 บาท ค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียงหน้าท่าเรือคลังสินค้าอัตราตันละ 102 บาท คิดเป็นเงิน 1,071,000 บาท ชำระล่วงหน้าแล้ว 428,400 บาท ต่อมาโจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ ฉบับแรกแจ้งให้ชำระค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุก 210,000 บาท และค่าจ้างพิเศษเนื่องจากทำงานเสร็จก่อนเวลา 75,000 บาท ฉบับที่ 2 แจ้งให้ชำระค่าระวางเรือลำเลียง 498,750 บาท และฉบับที่ 3 แจ้งให้ชำระค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียงหน้าท่าเรือคลังสินค้า 642,600 บาท และค่าขนย้ายสินค้าจากโกดัง 5 ไปยังโกดัง 6 เป็นเงิน 21,840 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ ส่วนที่เหลือที่ไม่ชำระ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า หนี้ค่าระวางเรือลำเลียงและค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียงหน้าท่าเรือคลังสินค้าถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาจ้างทำงานขนถ่าย ลำเลียง และขนส่งปุ๋ยกระสอบ ข้อ 3.1 ระบุว่า ค่าระวางเรือลำเลียงส่วนที่เหลือชำระภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งน้ำหนักรวมสินค้าทั้งหมดจากคลังที่เก็บสินค้า ข้อ 3.2 ค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าส่วนที่เหลือชำระภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งน้ำหนักรวมสินค้าที่ขนลงเรือลำเลียงจากเรือใหญ่ ข้อ 3.3 ค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียงหน้าท่าเรือคลังสินค้ายอดที่เหลือชำระภายในกำหนด 3 วัน นับแต่ผู้รับจ้างได้รับแจ้งน้ำหนักรวมของสินค้าที่ขนเข้าคลังและตีกองเสร็จแล้ว ตามสัญญาดังกล่าวจึงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างและค่าระวางพาหนะกันไว้แล้ว ไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องนำตั๋วเรือหรือใบตราส่งจากเรือบรรทุกสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะมีสิทธิรับชำระค่าจ้างและค่าระวางพาหนะได้ ทั้งตั๋วเรือหรือใบตราส่งที่นายอาทิฐ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 อ้างถึงว่ามีรายการสินค้า วันเวลาขนถ่ายสินค้า ชื่อเรือใหญ่ น้ำหนักที่ลงจากเรือใหญ่ น้ำหนักที่ขึ้นจากเรือโป๊ะ เพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่ายค่าสินค้า ค่าขนส่งระหว่างประเทศนั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 เองนำสืบว่า สั่งซื้อสินค้าประเภทปุ๋ยมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการขนส่งทางทะเลโดยเรือบรรทุกสินค้า ผู้ส่งของมีสิทธิเรียกเอาใบตราส่งจากผู้ขนส่งทางทะเล ใบตราส่งเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล แสดงว่าผู้ขนส่งนั้นได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแล และจะส่งมอบของดังกล่าวให้ผู้มีสิทธิรับของเมื่อได้รับเวนคืน ใบตราส่งมีรายการต่าง ๆ ตามที่นายอาทิฐเบิกความ การที่จำเลยที่ 1 รับสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าได้ และชำระค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าส่วนที่เหลือกับค่าจ้างพิเศษเนื่องจากทำงานเสร็จก่อนเวลาให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีใบตราส่งไว้ในครอบครองและนำไปเวนคืนแก่ผู้ขนส่งทางทะเล ตลอดจนทราบน้ำหนักรวมสินค้าที่ขนลงเรือลำเลียงจากเรือใหญ่ตามเงื่อนไขการชำระค่าจ้างดังกล่าวนั้นแล้ว สำหรับค่าระวางเรือลำเลียงส่วนที่เหลือและค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียงหน้าท่าเรือคลังสินค้าส่วนที่ค้างชำระนั้น นายณัฐวุฒิ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์เริ่มขนถ่ายสินค้าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 และส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ที่คลังสินค้าของบริษัทซี เค เอส สหอุตสาหกรรม จำกัด และคลังสินค้าของบริษัทบางปะอินไซโล จำกัด ครบถ้วนในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 สินค้าของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เสียหายหรือขาดจำนวนในระหว่างอยู่ในความดูแลของโจทก์ นายอาทิฐพยานจำเลยที่ 1 เองก็เบิกความยอมรับว่า วันที่ 14 มิถุนายน 2555 พยานได้รับแจ้งจากนายณัฐวุฒิตัวแทนของโจทก์และนางสาวจารุวรรณ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ให้เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างขนถ่าย ลำเลียง และขนส่งปุ๋ยกระสอบว่า โจทก์ทำงานเสร็จตามสัญญา ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2555 นายณัฐวุฒินำใบแจ้งหนี้มาเรียกเก็บเงิน เอกสารดังกล่าวระบุว่าคลังสินค้าของบริษัทซี เค เอส สหอุตสาหกรรม จำกัด มีปุ๋ยจัมโบ้เข้าคลัง 6,623.66 ตัน คลังสินค้าของบริษัทบางประอินไซโล จำกัด มีปุ๋ยเข้าคลัง 3,876.52 ตัน รวม 10,500.18 ตัน แต่ใบรายงานสต๊อกปุ๋ยดังกล่าวไม่มีผู้ลงนามรับรอง จึงตรวจสอบไปที่นายบุญมี ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัทซี เค เอส สหอุตสาหกรรม จำกัด ได้รับแจ้งว่ามีปุ๋ยเข้าคลัง 6,575.66 ตัน ส่วนที่คลังสินค้าของบริษัทบางปะอินไซโล จำกัด มีปุ๋ยเข้าคลัง 3,876.51 ตัน รวม 10,452.17 ตัน น้ำหนักขาดไป 47.83 ตัน ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 เบิกปุ๋ยจากคลังสินค้าทั้งสองแห่ง มียอดปุ๋ยทั้งหมด 10,431.14 ตัน น้ำหนักขาดไป 70.16 ตัน จำเลยที่ 1 ซื้อปุ๋ยมาตันละ 17,054.67 บาท น้ำหนักปุ๋ยขาดไปคิดเป็นเงิน 1,196,556 บาท จากคำเบิกความของนายอาทิฐแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับใบรับรองน้ำหนักปุ๋ยจากคลังสินค้าทั้งสองแห่งจากโจทก์แล้ว แต่ไม่ยอมรับความถูกต้องในใบรับรองน้ำหนักดังกล่าว และโต้แย้งว่าโจทก์ส่งมอบปุ๋ยขาดจำนวน ซึ่งหากมีกรณีที่ปุ๋ยสูญหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของโจทก์เกิดขึ้น โจทก์เป็นผู้ขนส่งย่อมจะต้องรับผิดในการสูญหายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 และแม้จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อหักค่าเสียหายดังกล่าวและค่าเสียหายจากการเรียงสินค้าของโจทก์ทำให้สินค้าอื่นของจำเลยที่ 1 เสียหายด้วยแล้ว โจทก์กลับต้องเป็นฝ่ายชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 33,366 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีคำขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินส่วนต่างดังกล่าว เป็นแต่ต่อสู้หรือเถียงว่าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วน ขอให้ยกฟ้องเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่จำเป็นต้องฟ้องแย้ง แต่ศาลต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ส่งมอบปุ๋ยขาดจำนวนหรือไม่ เห็นว่า ในข้อนี้ใบรายงานสต๊อกปุ๋ยที่คลังสินค้าของบริษัทซี เค เอส สหอุตสาหกรรม จำกัด ของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่มีจำนวนแตกต่างกัน ใบรายงานสต๊อกปุ๋ยของโจทก์ออกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์ขนถ่ายปุ๋ยเข้าคลังสินค้า ส่วนใบรายงานสต๊อกปุ๋ยของจำเลยที่ 1 ออกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ห่างจากวันขนถ่ายปุ๋ยครั้งสุดท้ายออกไปอีก ลักษณะแบบพิมพ์และข้อความทั่วไปในใบรายงานสต๊อกปุ๋ยของโจทก์และจำเลยที่ 1 เหมือนกัน แม้ใบรายงานสต๊อกปุ๋ยของโจทก์ไม่มีผู้ลงนามรับรอง แต่ระบุผู้จัดทำรายงาน คือ นางสาวดารารัตน์ (ดา) และโจทก์ยังมีใบรับสินค้าของบริษัทซี เค เอส สหอุตสาหกรรม จำกัด มีรายละเอียดเลขที่บิล วันที่และเวลาเข้า ทะเบียนรถ ชื่อลูกค้า ชื่อสินค้า ผู้ขนส่ง วันที่และเวลาออก น้ำหนักเข้า น้ำหนักออก น้ำหนักสุทธิ ค่าลง ลายมือชื่อผู้ชั่ง ประกอบใบรายงานสต๊อกปุ๋ยดังกล่าว มีน้ำหนักรับฟังมากกว่าใบรายงานสต๊อกปุ๋ยที่ออกห่างวันขนปุ๋ยครั้งสุดท้าย และไม่มีใบรับสินค้ามาประกอบรายงานดังกล่าว อีกทั้งนางสาวจารุวรรณ พยานจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านเจือสมพยานโจทก์อีกว่า พยานเป็นผู้จัดหาเรือลำเลียงมา มีสภาพเรียบร้อย เมื่อขนสินค้าเต็มเรือลำเลียงแล้วจะมีการซีลรอบลำเพื่อป้องกันการลักทรัพย์ในระหว่างการขนส่ง ก่อนนำสินค้าจากเรือลำเลียงขึ้นรถบรรทุกไปยังคลังสินค้า เจ้าของคลังสินค้าจะต้องมาร่วมตรวจสอบกับผู้ขนส่งว่าซีลนั้นเรียบร้อย ไม่มีการสูญหายระหว่างการขนส่ง แล้วจึงขนสินค้าขึ้นรถบรรทุกนำไปคลังสินค้าจากท่าเรือลำเลียงถึงคลังสินค้าของบริษัทซี เค เอส สหอุตสาหกรรม จำกัด มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เท่าที่พยานทราบการขนส่งในช่วงนี้ไม่มีสินค้าสูญหาย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ขนสินค้าปุ๋ยส่งมอบยังคลังสินค้าทั้งสองแห่งครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าระวางเรือลำเลียงส่วนที่เหลือและค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียงหน้าท่าเรือคลังสินค้าส่วนที่ค้าง กับค่าขนย้ายสินค้าจากโกดัง 4 ไปโกดัง 5 ตามฟ้อง ฎีกาข้ออื่นไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์