คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรที่เกิดในระหว่างที่บิดมารดาสมรสอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยาและจดทะเบียนการสมรสกันแล้ว จนกระทั่งบิดาถึงแก่กรรมแล้วจึงมีคำพิพากษาของศาลชี้ขาด ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดากับมารดานั้น ไม่ชอบด้วย ก.ม.เพราะขณะนั้นบิดายังมีภริยาเดิมอยู่มิได้หย่าขาดกัน ดังนี้ ก็ต้องถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วย ก.ม.ของบิดามารดาตลอดมา และมีสิทธิได้รับมรดกของบิดา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกของนายชิตผู้เป็นบิดาจากจำเลย จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิรับมรดก ฯลฯ
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรเกิดกับนายชิตบิดานางสมบุญมารดา นายชิตและนางสมบุญได้สมรสกันและจดทะเบียนการสมรสกันแล้ว แต่ภายหลังปรากฎว่าขณะที่จดทะเบียนสมรส นาชิตยังมีภริยาเดิมอยู่มิได้หย่าร้างกัน เมื่อนายชิตตายแล้ว จำเลยผู้เป็นภรรยาเดิมนายชิต จึงฟ้องเรียกมรดกจากนางสมบุญมารดาโจทก์ ศาลพิพากษาให้จำเลยชนะคดี โดยวินิจฉัยว่า นางสมบุญไม่มีสิทธิในมรดกส่วนของนายชิต เพราะการสมรสระหว่างนางสมบุญกับนายชิตไม่สมบูรณ์ โจทก์จึงมาฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยเป็นคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งมรดกนายชิตให้แก่โจทก์ตามส่วน
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นบุตรระหว่างที่นายชิตกับนางสมบุญสมรสอยู่กินด้วยกันโดยมีการจดทะเบียนสมรส ตราบจนกระทั่งนายชิตตายไปฐานะของโจทก์จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตลอดมา ส่วนคำพิพากษาในคดีก่อนที่ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างนางสมบุญมารดาโจทก์กับนายชิตเป็นการไม่ชอบด้วย ก.ม.ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฐานะนางสมบุญในการที่ไม่มีสิทธิรับมรดกนายชิตในฐานะเป็นภริยานายชิตโดยเฉพาะหาอาจทำให้ฐานะของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่ เรพาะบุตรอันเกิดแต่ระวห่างสมรสนั้น แม้การสมรสจะได้ถูกเพิกถอนภายหลังตามมาตรา ๑๕๓๒ ก็ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฯลฯ
จึงพิพากษายืน

Share