คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับผู้ให้เช่า จึงตกลงกับผู้ให้เช่าใหม่ โดยบันทึกข้อตกลงใหม่นี้ในด้านหลังสัญญาเช่าเดิมว่า ผู้เช่าจะทาสีน้ำมันภายในบ้านที่เช่าให้ภายใน 1 ปี ถ้าผิดสัญญายอมออกทันทีโดยไม่เรียกค่าเสียหายใด ๆดังนี้ เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ผู้เช่ายังไม่ทาสีบ้านเช่าให้ ก็ต้องถือว่าผู้เช่าเลือกปฏิบัติในทางที่จะออกจากบ้านเช่าไปหรือนัยหนึ่งเป็นอันถือได้ว่าผู้ให้เช่าได้รับความยินยอมของผู้เช่าในอันที่จะเลิกใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ2489 มาตรา 16(5) แล้ว จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากเคหะที่เช่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ จำเลยทำหนังสือเช่าบ้านโจทก์ ค่าเช่าเดือนละ ๓๕๐ บาทโดยจำเลยสัญญาว่าจะทำสพานและทาสีบ้านให้ภายในกำหนด ๑ เดือนครั้นครบกำหนด ๑ เดือน จำเลยไม่ยอมทาสีบ้านให้ อ้างว่าไม่มีเงินโจทก์จึงยอมออกเงินทดรองทาสีด้านนอกแทนจำเลยไปก่อนเป็นเงิน ๑๘๐๐ บาท โดยจำเลยสัญญาจะผ่อนใช้ให้เดือนละ ๑๐๐ บาท ส่วนการทาสีด้านในนั้น จำเลยสัญญาว่าจะทำให้ภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๙๒ เป็นต้นไป ถ้าผิดสัญญาจำเลยให้ความยินยอมไว้ว่าจะออกจากบ้านเช่าทันที โดยไม่เรียกค่าเสียหายใด ๆ ดังปรากฎตามบันทึกด้านหลังสัญญาเช่า บัดนี้ครบกำหนด ๑ ปีตามสัญญาครั้งหลังแล้ว จำเลยไม่ทาสีด้านในให้ โจทก์จึงขอให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านเช่าของโจทก์ตามที่จำเลยให้ความยินยอมไว้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ความยินยอมของผู้เช่าตามพ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯนั้น หมายถึงความยินยอมโดยสมัครใจ มิใช่เกิดขึ้นโดยข้อกำหนดหรือสัญญาใด ๆ ที่ทำไว้ล่วงหน้า จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้หลังจากที่จำเลยผิดสัญญาไม่ทาสีบ้านให้โจทก์ตามสัญญาที่ทำกับโจทก์ครั้งแรกแล้ว จำเลยได้ตกลงกับโจทก์ใหม่ โดยยอมใช้เงินค่าทาสีด้านนอกบ้านให้แก่โจทก์เดือนละ ๑๐๐ บาท เพื่อชดใช้เงินที่โจทก์ทดรองไป และตามข้อตกลงใหม่นี้ จำเลยได้ทำสัญญาว่าจะทาสีน้ำมันภายใน ให้โจทก์ภายในกำหนด ๑ ปี ถ้าผิดสัญญายอมออกทันทีโดยไม่เรียกค่าเสียหายใด ๆ ดังนี้พึงเห็นได้ว่า การที่จำเลยจะทาสีภายในบ้านภายในกำหนดเวลา ๑ ปีก็ดีหรือการที่จำเลยจะออกจากบ้านโดยไม่เรียกค่าเสียหายใด ๆ ก็ดี เป็นเรื่องที่จำเลยจะพึงเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เรื่องนี้ปรากฎว่าเมื่อครบกำหนด ๑ ปีแล้ว จำเลยไม่ได้ทาสี จึงต้องถือว่าจำเลยได้เลิกปฏิบัติในทางที่จะออกจากบ้านโดยไม่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายอย่างใด ๆ จากโจทก์แล้ว หรือนัยหนึ่งเป็นอันถือได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าได้รับความยินยอมของผู้เช่าในอันที่จะเลิกใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯลฯ ๒๔๘๘ มาตรา ๑๖(๕) แล้ว จึงพร้อมกันพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share