คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยขอสัญญากู้ที่ทำให้ผู้ให้กู้ไว้มาดูแล้วฉีก แต่ผู้ให้กู้และผู้อื่นช่วยกันแย่งไว้ทัน จำเลยจึงไม่มีโอกาสทำลายสัญญากู้จนใช้ไม่ได้นั้น เรียกได้ว่า น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ให้กู้แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำลายจนใช้ไม่ได้ผลหรือต้องเอาไปเสีย และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยจะชำระเงินกู้ตามสัญญาฉบับนั้นในภายหลัง ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความผิดไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๑๘ สิงหาคา ๒๕๐๔ เวลากลางวัน จำเลยมีเจตนาทุจริตพูดหลอกลวงนายสุเทพ โพธิรักษ์ ขอดูสัญญากู้ยืมระหว่างนายสุเทพผู้ให้กู้ จำเลยผู้กู้ แล้วจำเลยบังอาจฉีกสัญญากู้นั้นขาดจากกันเป็นหลายชิ้น เป็นการทำที่น่าจะให้เกิดความเสียหายและทำลายเอกสารสัญญากู้ยืมเงินและทรัพย์ของนายสุเทพ เหตุเกิดตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ ผู้เสียหายร้องทุกข์แล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐,๑๘๘,๓๔๑,๓๕๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาพิจารณาแล้ว ฟังว่า จำเลยฉีกทำลายสัญญากู้ โดยยังมิได้ชำระเงินให้กู้เสียหาย เป็นผิดฐานทำลายทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘,๓๕๘ เท่านั้น ไม่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ พิพากษาจำคุก ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลอาญา แต่เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจะฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น
๑. ฎีกาข้อนี้จำเลยเถียงข้อเท็จจริง
๒. จำเลยฎีกาว่า องค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ จะต้องเป็นการทำให้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประมาท เรื่องนี้ จำเลยพับหนังสือสัญญากู้ยืมเงินแล้วฉีกเพียงครั้งเดียว และทิ้งไว้ไม่ได้นำติดตัวหนีไป จึงไม่อยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแต่ประการใด ยิ่งกว่านั้น ผู้เสียหายได้ฟ้องเรียกเงินทางแพ่ง และก็ได้รับชำระเงินตามสัญญาจากจำเลยครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีความเสียหาย ข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมาขอดูสัญญากู้แล้วฉีก นายสุเทพและผู้อื่นช่วยกันแย่งไว้ทัน จำเลยจึงไม่มีโอกาสทำลายสัญญากู้ฉบับนั้นจนใช้ไม่ได้ เช่นนี้ เรียกได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสุเทพอันเข้าเกณฑ์ความผิดความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องทำลายจนใช้ไม่ได้ผลหรืออ้างเอาไปเสีย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดแล้ว การที่จำเลยชำระเงินกู้ตามสัญญาฉบับนี้ในภายหลังจึงไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดไปได้
๓. จำเลยฎีกาว่า จำเลยก็รับว่าได้ฉีกสัญญากู้จริง ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาประเด็นที่ว่าได้มีการชำระหนี้แล้วหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ยอมรับเอาประเด็นที่ว่าจำเลยชำระเงินแล้วหรือไม่มาซื้อขาดในคดีอาญาจึงไม่ถูกต้อง เห็นว่าเรื่องนี้จำเลยนำสืบสู้คดีว่า จำเลยได้ชำระเงินกู้แก่นายสุเทพแล้ว นายสุเทพบอกให้ฉีกหนังสือสัญญาเสีย จำเลยจึงได้ฉีกทิ้งลงใต้ถุน เพราะฉะนั้นคดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยได้ชำระเงินกู้หรือไม่ ถ้าจำเลยได้ชำระแล้วจริง การกระทำของจำเลยก็ไม่ผิด ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้
ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าหากจำเลยจะมีความผิด ก็ขอให้รอการลงโทษจำเลยด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดโทษมานั้นชอบแล้ว ยังไม่มีเหตุแก้ไข
พิพากษายืน

Share