คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 วรรค 2 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยเรียกพยานเข้าสืบเฉพาะกรณีที่ขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อจำเลยเพียงแต่ขัดนัดพิจารณาแต่มิได้ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยจึงหาหมดสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบไม่
การขัดนัดพิจารณาในนัดหนึ่งนัดใด ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานเข้าสืบยังไม่หมด นัดต่อไปคู่ความที่ขาดนัดมาศาลก็ย่อมมีสิทธิที่จะถามค้านได้เพราะไม่ใช่เป็นพยานที่ได้สืบไปแล้ว
การที่คู่ความแถลงร่วมกันขอให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้ว แม้ต่อมาจะไม่ตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่าย และในที่สุดฝ่ายหนึ่งได้ขอให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญไปฝ่ายเดียว ดังนี้อีกฝ่ายหนึ่งจะกลับมาคัดค้านภายหลังหาได้ไม่
การขออ้างพยานเพิ่ม แม้จะล่วงเวลาหลังจากสืบพยานฝ่ายตรงข้ามแล้ว ถ้าศาลเห็นมีเหตุสมควร ก็มีอำนาจอนุญาตได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ไป ๑๗,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ เคยชำระดอกเบี้ย ๕,๔๐๐ บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้าง ๒๖,๕๑๗ บาท ขอให้บังคับ
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธและฟ้องแย้งให้โจทก์คืนโฉนดที่หายไป จำเลยที่ ๒ ให้การรับผิด แต่ขอให้บังคับจากจำเลยที่ ๑ ก่อน
ก่อนวันสืบพยาน จำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม นางย้อยขอเข้ารับมรดกความศาลอนุญาต และนัดสืบพยานโจทก์ ครั้นถึงวันนัดนางย้อยขาดนัดพิจารณา โจทก์สืบพยานได้ ๒ ปากแล้วแถลงหมดพยาน ศาลนัดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวัดนัดนางย้อยมาศาลขอให้ส่งเอกสารไปตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และขอยื่นระบุพยาน ศาลอนุญาตและสืบพยานจำเลยต่อไป
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้กู้เงินโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ บังคับให้นางย้อยในฐานะผู้รับมรดกความจำเลยที่ ๑ ใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง
นางย้อยผู้รับมรดกความจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ขาดนัดยื่นคำให้การด้วย เพียงแต่ขาดนัดพิจารณา ในวันนัดสืบพยานที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานโจทก์ จึงหาหมดสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ วรรค ๒ บัญญัติห้ามมิให้จำเลยเรียกพยานของตนเข้าสืบเฉพาะกรณีที่ขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้น เมื่อจำเลยยื่นคำให้การสู้คดีไว้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะนำสืบตามประเด็นที่ตนสู้คดีได้ การขาดนัดพิจารณาในนัดหนึ่งนัดใด เพียงแต่เสียผลเฉพาะวันนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๕ วรรค ๓ อนุมาตรา ๒ กล่าวคือ ถ้าคู่ความที่ขาดนัดมาศาลเมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบไปแล้ว เพียงแต่เสียสิทธิที่จะถามค้านพยานที่ได้สืบไปแล้ว และเสียสิทธิที่จะคัดค้านการระบุพยาน ฯลฯ ของอีกฝ่ายหนึ่งในระหว่างที่ตนขาดนัดเท่านั้น แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานเข้าสืบยังไม่หมด นัดต่อไปที่จำเลยมาศาลก็ย่อมมีสิทธิที่จะถามค้านได้ เพราะไม่ใช่เป็นพยานที่ได้สืบไปแล้ว ส่วนการสืบพยานของจำเลยห้ามเฉพาะกรณีที่จำเลยมาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ ตามมาตรา ๒๐๕ วรรค ๓ อนุมาตรา ๑ ไม่ใช่ห้ามสืบพยานของจำเลยเสียเลย
อนึ่ง ในขั้นแรกที่เริ่มคดีนี้ จำเลยที่ ๑ ขอให้มีการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของนายปั้นผู้ตายในหนังสือสัญญากู้ คำขอนี้โจทก์จำเลยได้แถลงร่วมกันขอให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญในวันชี้สองสถานแล้ว โดยขอให้ศาลเป็นผู้กำหนดตัวผู้เชี่ยวชาญ และให้ถือเป็นข้อแพ้ชนะกันเลย ศาลได้สั่งอนุญาตแล้วและได้มีการส่งพนักงานศาลไปเอาลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ ๑ ขณะมีชีวิตอยู่จนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่แล้วฝ่ายโจทก์จะไม่ติดใจให้ผู้ชำนาญพิสูจน์โดยไม่ตกลงในเรื่องค่าใช้จ่าย ขอให้สืบพยานโจทก์ต่อไปก็ดี คำขอตั้งผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลยก็ยังคงมีอยู่ เมื่อถึงนัดที่จำเลยมีหน้าที่สืบพยานของตน จำเลยขอสืบผู้เชี่ยวชาญตามคำขอเดิม โดยขอให้หัวหน้ากองวิทยาการกรมตำรวจเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ ฝ่ายโจทก์ก้แถลงไม่ขัดข้อง ศาลจึงสั่งให้หัวหน้ากองวิทยาการเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ แต่ต่อมากองวิทยาการกรมตำรวจแจ้งว่าหัวหน้ากองวิทยาการไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จำเลยที่ ๑ จึงขอให้ผู้ชำนาญการพิสูจน์ลายมือในกองวิทยาการกรมตำรวจทำการตรวจพิสูจน์ ศาลอนุญาต จึงเป็นการตั้งผู้เชี่ยวชาญสืบเนื่องมาจากคำขอเดิมซึ่งโจท์ไม่คัดค้านการตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วจะกลับมาคัดค้านภายหลังหาได้ไม่
ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะคัดค้าน เพราะคำขอนี้โจทก์จำเลยได้ขอตั้งร่วมกันมาแต่ต้น เมื่อโจทก์ไม่ติดใจพิสูจน์ จำเลยก็มีสิทธิขอให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ตามคำขอนั้นได้
ส่วนพยานอื่นนอกจากตัวนางย้อยผู้รับมรดกความแทนจำเลยที่ ๑ คงมีแต่สามีนางย้อยเท่านั้น การขออ้างพยานเพิ่มเติมแม้จะล่วงเวลา คือ ขอเมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว ถ้าศาลเห็นมีเหตุสมควรอื่นใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘ วรรคท้าย ก็มีอำนาจอนุญาตได้ ดุลพินิจที่จะอนุญาตหรือไม่นั้น ศาลย่อมวินิจฉัยโดยควรแก่คดี ดังนั้น ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยอีกว่าสมควรหรือไม่สมควร ที่ศาลอุทะรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยหมดสิทธิที่จะสืบพยานของตนแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย

Share