แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1308 ถือได้ว่ากฎหมายให้เจ้าของที่ดินริมตลิ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่งอกออกไปโดยลักษณะเป็นส่วนควบของที่ดินริมตลิ่ง และถือว่าเป็นที่ดินอยู่ในโฉนดของที่ดินริมตลิ่งด้วย
ข้อสัญญาจำนองซึ่งกล่าวว่า “สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ไม่มีสิ่งใดยกเว้นจำนองด้วยทั้งสิ้น” นี้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 719 แปลความได้ว่าหมายถึง สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่มีอยู่บนที่ดินจำนองในขณะทำสัญญาจำนองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าบ้านที่พิพาทนั้นน้ำท่วมถึง ก็ยังไม่มีสภาพเป็นที่งอกในขณะทำสัญญาจำนอง บ้านนั้นก็มิใช่เป็นสิ่งปลูกสร้างตามข้อสัญญาจำนอง
อนึ่ง ถ้าบ้านพิพาทนั้นปลูกติดต่อเป็นส่วนควบซึ่งกันและกัน หรืออาจแยกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้รูปบริบูรณ์ลำพังแต่ละหลังโดยไม่เป็นการทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือเปลี่ยนแปลงรูปทรง อาจเป็นเหตุให้สัญญาจำนองและสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับต่างกัน
เมื่อยังฟังข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับปัญหาเรื่องบ้านพิพาทไปทางใดทางหนึ่งมิได้ ก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
คดีนี้ เนื่องมาจากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นบังคับคดี โจทก์จึงยึดทรัพย์สินที่จำนองเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องว่า โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ ว่า “จำเลยรับผิดชำระหนี้ทั้งสองสำนวนนี้เพียงหนึ่งแสนเก้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๕ และโฉนดที่ ๒๙๘๖ ที่โจทก์ฟ้องนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันทำยอมนี้ ถ้าจำเลยผิดนัดให้โจทก์บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองสองรายนี้เอาเงินชำระโจทก์ต่อไป” และความข้อ ๒ ว่า “โจทก์ยอมความตามจำเลยในข้อ ๑ ไม่ ติดใจว่ากล่าวแก่จำเลยมากไปกว่านี้ ฯลฯ” เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่นำเงินมาไถ่ถอนโจทก์จึงยึดทรัพย์จำนองรายนี้ และนำยึดนอกเหนือไปอีก คือ ยึดที่ดินครอบครองของผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งผู้ร้องขัดทรัพย์แจ้งการครอบครองตาม ส.ค.๑ แล้ว และนำยึดบ้าน ๓ หลังติดกัน ซึ่งมิใช่ปลูกอยู่บนที่ดิน โฉนดที่จำนอง ขอให้ถอนการยึดที่ดินครอบครองและบ้าน ๓ หลัง ดังกล่าว ซึ่งหลังที่ ๑ เพียงครึ่งหลังปลูกอยู่บนที่ดินครอบครอง อีกครึ่งหลังและหลังที่ ๒-๓ ปลูกอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนนอกที่ดินครอบครอง
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์ซึ่งติดจำนองกับโจทก์ทั้งสิ้น โดยจำเลยได้นำชี้ คือ ที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๕ และ ๒๙๘๖ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่า ได้แจ้งการครอบครองตาม ส.ค.๑ ซึ่งอยู่ติดกับโฉนดที่ ๔๕๕๕ นั้น เป็นที่ดินผืนเดียวกัน โดยงอกออกไปจากที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๕ ที่งอกริมตลิ่งย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินริมตลิ่ง ที่งอกโดยเป็นส่วนควบกับที่ดินเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๘ และติดจำนองไปด้วยอำนาจของกฎหมาย และหนี้จำนองที่โจทก์ฟ้องนี้เป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับ นายกรีด ฉิมม่วง ด้วย เมื่อที่ดินที่งอกเป็นส่วนควบของทรัพย์จำนอง สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดตกอยู่ในภาระจำนองด้วย บ้าน ๓ หลังปลูกขึ้นก่อนจำนอง สัญญาจำนองได้จดทะเบียนไว้ชัดแจ้งว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองยอมจำนองด้วย โดยไม่มีสิ่งใดยกเว้นเลย ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยเจตนประวิงเวลาชำระหนี้จำนอง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องนำสืบรับว่า ที่ดินซึ่งผู้ร้องอ้างว่าครอบครองมาเป็นที่งอกจากที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๕ ต้องฟังว่า ที่ดินส่วนนี้เป็นของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๘ ตกอยู่ในภาระจำนองด้วย หาใช่ของผู้ร้องไม่ ส่วนบ้าน ๓ หลังนั้น หลังที่ ๑ ปลูกอยู่บนที่งอกจากโฉนดที่ ๔๕๕๕ ก่อนจำนองก็ต้องว่าเป็นของจำเลยตกอยู่ในภาระจำนองด้วย เฉพาะบ้านหลังที่ ๑ และที่ ๓ ตามแผนที่พิพาทปลูกนอกที่งอกจากโฉนดที่ ๔๕๕๕ เป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ พิพากษาให้ยกคำร้องขัดทรัพย์เฉพาะที่ดินอันเป็นที่งอกจากโฉนดที่ ๔๕๕๕ และบ้านหลังที่ ๑ เสีย ให้โจทก์ถอนการยึดบ้านหลังที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์นั้นด้วย
โจทก์และผู้ร้องขัดทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของนายกรีดผู้ร้องเพราะผู้ร้องขัดทรัพย์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินที่พิพาท เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์ที่ ๒ เป็นภริยาถูกฟ้องเป็นจำเลยและถูกยึดทรัพย์ นายกรีดสามีซึ่งเป็นเจ้าของร่วมย่อมไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ และให้คงยึดบ้านหลังที่ ๒ และ หลังที่ ๓ ตามที่ยึดไว้ด้วย ให้ถอนการบังคับคดี เฉพาะที่ดินที่งอกประหน้าที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๖ซึ่งอยู่ก่อนตะวันออก โดยวัดจากมุมตะวันตกเฉียงเหนือจากหลักหมายเลข ๕๖๒๑๕ ของที่ดิน โฉนดที่ ๔๕๕๖ ที่ติดต่อกับที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๕ ตรงลงไปทางแม่น้ำตามแนวของด้านตะวันตกของที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๖ นอกนั้นให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องขัดทรัพย์ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นพ้องด้วยศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า สัญญาจำนองครอบไปถึงที่พิพาทหน้าที่ดินโฉนดที่ ๔๕๕๕ ด้วยผลของกฎหมายตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๐๘ บัญญัติว่า ” ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น” เป็นการที่กฎหมายให้เจ้าของที่ดินริมตลิ่งได้กรรมสิทธิในที่ดินที่งอกออกไปโดยลักษณะเป็นส่วนควบของที่ดินริมตลิ่ง และถือว่าเป็นที่ดินอยู่ในโฉนดของที่ดินริมตลิ่งด้วย ตามที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องได้พาโจทก์ดูเขตที่ดินที่จะจำนองนั้น ความจริงผู้ร้องเบิกความไว้แต่เพียงว่า ก่อนจำนอง โจทก์ถามถึงอาณาเขตที่ดินตามโฉนดที่ ๔๕๕๕ ว่ามีเพียงแค่หลังบ้านหลังที่ ๑ ใช่หรือไม่ และภายหลังจำนองโจทก์มีความเข้าใจว่ามีอาณาเขตตามเดิมเท่านั้น หาถือได้ว่าเป็นข้อตกลงไม่ให้สัญญาจำนองครอบครุมไปถึงที่พิพาทอย่างใดด้วยไม่ เมื่อสัญญาจำนองครอบถึงที่พิพาทแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความบังคับเอาแก่ที่พิพาทได้เช่นเดียวกัน
สำหรับบ้านพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าในขณะทำสัญญาจำนองที่พิพาทได้งอกออกไปถึงบ้านพิพาทจนเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่งอกแล้ว บ้านพิพาทก็อยู่ในบังคับของสัญญาจำนองและสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย แต่ถ้าที่ปลูกบ้านนั้นน้ำท่วมถึง ยังไม่มีสภาพเป็นที่งอกขณะที่ทำสัญญาจำนองบ้านนั้น ก็มิใช่เป็นสิ่งปลูกสร้างตามข้อสัญญาจำนองซึ่งกล่าวว่า “สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ไม่มีสิ่งใดยกเว้นจำนองด้วยทั้งสิ้น ” เพราะสัญญาข้อนี้คงแปลความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑๔ ได้เพียงว่า หมายถึงสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่มีอยู่บนที่ดินจำนองในขณะทำสัญญาจำนองเท่านั้น
นอกจากนี้ ถ้าในขณะทำสัญญาจำนอง ที่พิพาทได้งอกออกไปถึงบ้านหลังที่ ๑ อันเป็นเหตุให้บ้านนั้นตกอยู่ในบังคับของสัญญาจำนอง และสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ก็ยังมีข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า บ้านทั้งสามหลังนั้นปลูกติดต่อเป็นส่วนควบซึ่งกันและกันหรืออาจแยกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้โดยไม่ทำให้บุบสลายหรือเปลี่ยนแปลงรูปทรง ซึ่งจะเป็นเหตุให้สัญญาจำนองและสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับต่างกัน
แต่คดีนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเรื่องบ้านพิพาทยังฟังไม่ได้ทางใดทางหนึ่ง จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปคดี