แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องของโจทก์กล่าวว่า เจ้าของเดิมโอนที่ให้โจทก์เมื่อเดือนธันวาคม 2488 และนับตั้งแต่ ธันวาคม 2488 เป็นต้นมา โจทก์ได้ทราบภายหลังว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าได้กระทำผิดกฎหมายการเช่า และผิดสัญญาการเช่าหลายประการ ดังนี้ ต้องแปลว่าโจทก์หาว่าจำเลยได้ทำผิดสัญญาตั้งแต่ ธันวาคม 2488 เป็นต้นมา
โจทก์ขอให้จำเลยออกจากห้องเช่า จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ใจความว่า ไม่สามารถจะปฏิบัติตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลยจะอยู่ต่อไปจนสิ้นอายุสัญญาเช่า ดังนี้ ข้อความในหนังสือไม่ได้แสดงความยินยอมเลิกใช้ทรัพย์ตามความหมายใน พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า
+เช่าตึกแถว+รถยนตร์และน้ำมัน+เข้าไปเก็บไว้+เมื่อสัญญา+ไว้ จะถือว่าผิดสัญญาไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากหม่อมหลวงนกแก้ว โจทก์ได้รับโอนสัญญาเช่าทรัพย์รายนี้ด้วย โดยหม่อมหลวงนกแก้วเป็นผู้ให้เช่า นางสายทองจำเลยเป็นผู้เช่า ทรัพย์สินที่เช่ารายนี้คือตึกแถวชั้นเดียว ๕ ห้อง หมายเลข ๑๒๗๓ ถึง ๑๓๗๗ เป็นที่ค้าขาย และมีตึกแถวและเรือนอีก ได้แจ้งการโอนรายนี้ให้จำเลยทราบแล้วแต่ ธันวาคม ๒๔๘๘ นับแต่เดือนธันวาคม ๒๔๘๘ เป็นต้นมา โจทก์ทราบภายหลังว่า (ก) จำเลยที่ ๑ ได้ให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิอันมีในตึกแถวชั้นเดียวหมายเลยที่ ๑๒๗๓ ถึง ๑๒๗๔ ให้จำเลยที่ ๒ เช่าช่วงหรือเข้าอยู่เป็นเจ้าของบ้านโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยที่ ๑ (ข) จำเลยที่ ๑ ได้นำรถยนต์บรรทุกคนโดยสารเข้าไปเก็บในตึกทำการค้าขายนี้ทุกวัน อาจเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ให้เช่าเสียหาย เพราะเป็นของหนัก และมีน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นวัตถุไวไป โจทก์ได้ให้คำตักเตือนแล้ว ตามหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ ลง ๒๖ มกราคม ๒๔๘๙ จำเลยที่ ๑ ยินยอมออกจากที่เช่าในวันสิ้นสัญญาเช่ารายนี้ บัดนี้เกินกำหนดและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นอันเลิกกัน และให้ขับไล่จำเลยทั้งสองกับบริวาร จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่พิพาททั้งหมดจำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีการค้าบ้างเป็นส่วนน้อย จำเลยที่ ๒ อยู่ในที่พิพาทในฐานะบริวาร ตามสัญญาเช่ามิได้ห้ามไม่ให้นำรถยนตร์หรือน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปเก็บในที่พิพาท และ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ๒๔๘๙ คุ้มครองจำเลย จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยเข้าอยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ เช่าช่วงห้องเลขที่ ๑๒๗๓, ๑๒๗๔ ทั้งก่อนและหลัง ธันวาคม ๒๔๘๘ พิพากษาให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เลิกกันฉะเพาะห้องเลขที่ ๑๒๗๓ – ๑๒๗๔ เท่านั้น ฟ้องนอกจากข้อเช่าช่วงให้ยก
โจทก์, จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้อง โดยเห็นว่าฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยได้ทำผิดสัญญานับตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๔๘๘ อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับโอนเป็นต้นมา ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นับแต่วันที่โจทก์ได้รับโอนเป็นต้นมา จำเลยหาได้ทำผิดสัญญาไม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรื่องนี้เมื่ออ่านฟ้องแล้ว ทำให้เข้าใจว่า โจทก์หาว่าจำเลยได้ให้เช่าช่วงแต่วันที่โจทก์รับโอนคือเดือนธันวาคม ๒๔๘๘ และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ เช่าช่วง การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ แสดงความยินยอมจะออกจากที่เช่าในวันสิ้นสัญญาเช่านั้น ไม่เป็นข้อผูกพันจำเลยให้จำต้องออกไป ในเมื่อมี พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ คุ้มครอง
จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แสดงความยินยอมจะออกจากที่ในวันสิ้นสัญญา มีใจความว่า การที่โจทก์ให้จำเลยออกจากห้องภายใน ๓๐ วันนั้น ทำความเดือดร้อนมาสู่จำเลยอย่างใหญ่หลวง จำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามความประสงค์ของโจทก์ได้ จำเลยจะอยู่ต่อไปจนกว่าสัญญาเช่าจะสิ้นอายุ ดังนี้ ข้อความในหนังสือไม่ได้แสดงความยินยอมเลิกใช้ทรัพย์ตามความหมายใน พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า
ข้อที่ว่าจำเลยนำรถยนตร์และน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปในร้านค้า อาจจะทำให้โจทก์เสียหานั้น มิได้ห้ามไว้ในสัญญา จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ได้
พิพากษายืน