แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ “เคหะ” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2) 2490 มาตรา 3 ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองการเช่าอันใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก กล่าวคือเมื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าจะใช้เป็นที่ประกอบธุระกิจ การค้า หรืออุตสาหกรรม ด้วยเป็นส่วนประธาน หรืออุปกรณ์ และในทางกลับกัน จะเห็นได้ว่า กฎหมายมิได้มุ่งคุ้มครองการเช่าเพื่อประกอบธุรกิจ การค้า หรืออุตสาหกรรม โดยคู่สัญญามิได้มีเจตนาใช้เป็นที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ในการที่จะพิจารณาว่าการเช่าสิ่งปลูกสร้างใดจะเข้าอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ ดังกล่าวแล้วหรือไม่ จะถือเอาการปฏิบัติของผู้เช่าฝ่ายเดียวเป็นข้อวินิจฉัยหาพอไม่ และตามถ้อยคำแห่งบทวิเคราะห์ศัพท์ “เคหะ” ก็มิได้บัญญัติคำว่า “ผู้เช่า” ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ฉะนั้นการที่จะดูแต่เพียงว่า ผู้เช่าอาศัยอยู่ในเคหะนั้นหรือไม่แต่อย่างเดียวยังไม่พอกับความประสงค์ของกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของคู่กรณีในเวลาที่ทำสัญญากัน ประกอบกับเหตุแวดล้อมอื่น ๆ เช่น สภาพของสิ่งปลูกสร้าง อัตราค่าเช่า ทำเลที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง และการปฏิบัติของคูสัญญาแต่ละฝ่าย เหล่านี้รวมกันว่า การที่เช่าสิ่งปลูกสร้างนั้น เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือมิใช่
การที่ผู้เช่าอยู่ในสิ่งปลูกสร้างที่เช่านั้น หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานว่าเป็นการใช้เป็นที่อยู่อาศัยเสมอไปไม่ เพราะจะต้องพิจารณาด้วยว่า การอยู่นั้นอยู่ในฐานะอย่างใด กล่าวคือ อยู่ในฐานะ “อยู่อาศัย” หรือเพียงแต่อยู่ในฐานะที่เข้าไปประกอบธุระกิจ การค้า หรืออุตสาหกรรมในสิ่งปลูกสร้างที่เช่ามา เช่นการเช่าโรงเลื่อยโรงสีเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม โดยผู้เช่าเข้าไปอยู่ในโรงเลื่อยหรือโรงสีนั้น เพื่อควบคุมดำเนินกิจการเช่นนี้ ฟังว่าเป็นการเช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยย่อมไม่ได้
ย่อยาว
คดี ๔๙ สำนวนนี้ ศาลล่างได้รวมพิจารณาพิพากษาตลอดมา โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกันฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าออกจากสถานที่เช่า กับเรียกค่าเสียหาย โดยกล่าวว่า จำเลยเช่าตึกแถวของโจทก์เพื่อประกอบการค้า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นอายุ และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ยอมส่งคืนสถานที่เช่าแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยทุกสำนวนต่อสู้ว่า ได้เช่าสถานที่เช่าของโจทก์เพื่อใช้และได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ มิได้ประกอบการค้าอย่างเดียว จึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน โจทก์แถลงยอมรับว่า จำเลยอาศัยอยู่ในที่เช่าจริง แต่จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากห้อง พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ “เคหะ” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่๒) ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองการเช่าอันใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ก็ไม่ต้องคำนึงถึงว่า จะใช้เป็นที่ประกอบธุระกิจ การค้า หรืออุตสาหกรรมด้วยเป็นส่วนประธานหรืออุปกรณ์ และในทางกลับกัน จะเห็นได้ว่า กฎหมายมิได้มุ่งคุ้มครองการเช่าเพื่อประกอบธุระกิจการค้า หรืออุตสาหกรรม โดยคู่สัญญามิได้มีเจตนาใช้เป็นที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นในการที่จะพิจารณาว่า การเช่าสิ่งปลูกสร้างใดจะเข้าอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ดังกล่าวแล้วหรือไม่ จะถือเอาการปฏิบัติของผู้เช่าฝ่ายเดียวเป็นข้อวินิจฉัยหาพอไม่ และตามถ้อยคำแห่งบทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่า “เคหะ” ก็มิได้บัญญัติคำว่า “ผู้เช่า” ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ฉะนั้นการที่จะดูแต่เพียว่าผู้เช่าอาศัยอยู่ในเคหะนั้นหรือไม่แต่อย่างเดียว จึงยังไม่เพียงพอกับความประสงค์ของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ จะต้องพิจารณาถึงเจนาของคู่กรณีในเวลาทำสัญญากัน ประกอบกับเหตุผลแวดล้อมอื่น ๆ เช่น สภาพของสิ่งปลูกสร้าง อัตาค่าเช่า ทำเลที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง และการปฏิบัติของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย เหล่านี้รวมกันเรียกว่า การใช้สิ่งปลูกสร้างนั้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือมิใช่ อนึ่งเห็นสมควรที่จะกล่าวต่อไปว่า การที่ผู้เช่าอยู่ในสิ่งปลูกสร้างที่เช่านั้น หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานว่า เป็นการใช้เป็นที่อยู่อาศัยเสมอไปไม่ เพราะจะต้องพิจารณาด้วยว่า การอยู่นั้นอยู่ในฐานะอย่างใด กล่าวคือ อยู่ในฐานะ “อยู่อาศัย” หรือเพียงแต่ว่าอยู่ในฐานะที่เข้าไปประกอบธุระกิจ การค้า หรืออุตสาหกรรมในสิ่งปลูกสร้างที่เช่ามา เช่นการเช่าโรงเลื่อยโรงสีเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม โดยผู้เช่าเข้าไปอยู่ในโรงเลื่อยหรือโรงสีนั้น เพื่อควบคุมดำเนินกิจการเช่นนี้ จะฟังว่าเป็นการเช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยย่อมไม่ได้
คดีนี้ศาลชั้นต้นงดสืบพานคู่ความเสีย ข้อเท็จจริงยังไม่พอวินิจฉัยชี้ขาดคดีดังกล่าวมาแล้ว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่