คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ได้รับความยินยอมจากผู้เช่า” ตามมาตรา 16 (5) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน 2489 หมายความฉะเพาะถึงกรณีย์ที่ผู้เช่ายินยอมเลิกใช้หรือรับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าเท่านั้น ผู้ให้เช่าจึงจะมีสิทธิบังคับให้ผู้เช่าเลิกใช้ได้
ความยินยอมที่จะให้ไว้ล่วงหน้าโดยที่ผู้ให้เช่ายังไม่ได้เรียกร้องให้เลิกใช้ ไม่ใช่เป็นความยินยอมของผู้เช่าตามความหมายของกฎหมายนี้

ย่อยาว

ความว่า จำเลยได้เช่าครึ่งหนึ่งของห้องของโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าโจทก์ต้องการห้องทำการค้าขายเมื่อใด จำเลยยอมออกจากห้องทันที จำเลยได้ทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ภายหลังที่ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ๒๔๘๙ ออกใช้แล้ว โจทก์ต้องการห้องเพื่อทำการค้าขาย ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลย ๆ ไม่ยอมออก จึงฟ้องขอให้ขับไล่ ศาลชั้นต้นเห็นว่า การเช่าอยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความยินยอมของจำเลยเป็นไปตามเงื่อนไขแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ๒๔๘๙ มาตรา ๑๖ (๕) พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า ได้รับความยินยอมจากผู้เช่าตาม มาตรา ๑๖(๕) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ๒๔๘๙ หมายความฉะเพาะถึงกรณีย์ที่ผู้เช่ายินยอมเลิกใช้หรือรับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าเท่านั้น ผู้ให้เช่าจึงจะมีสิทธิบังคับให้ผู้เช่าเลิกใช้ได้ ความยินยอมที่ให้ไว้ล่วงหน้าโดยที่ผู้ให้เช่ายังไม่ได้เรียกร้องให้เลิกใช้ คือให้ไว้โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อผู้ให้เช่าต้องการห้องเมื่อใด ผู้เช่าก็ยินยอมเมื่อนั้น หาใช่เป็นความยินยอมของผู้เช่าตามความหมายของกฎหมายนี้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share