แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน บุคคลจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิได้ก็ฉะเพาะแต่การกระทำตามกฎหมายที่ดิน ดั่งที่ได้มีบทบังคับไว้ในมาตรา 1334 กฎหมายที่ดินดั่งว่านี้ได้มีปรากฎ เป็นบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินเป็นลำดับมา จนถึงฉะบับที่ 7 พ.ศ. 2486
การร้องขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ ซึ่งผู้ร้องได้ครอบครองมา 20 ปีเศษเป็นของผู้ร้องนั้น ได้มีมาตรา 13,15 แห่ง พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉะบับที่ 7) 2486 บังคับไว้แล้ว ส่วนการได้กรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 1382 ป.ม.แพ่งฯ นั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่บุคคลมีกรรมสิทธิอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญ.
ย่อยาว
คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่า ที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ เนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่เศษ ซึ่งผู้ร้องได้เข้าครอบครองโก่นสร้างมา ๒๐ ปีเศษ เป็นกรรมสิทธิของผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังหอทะเบียนที่ดินให้ทำการรังวัดออกหน้าโฉนดให้ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำฟ้อง ต้องทำตามแบบคำฟ้องตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ และตามกฎหมายที่ผู้ร้องอ้างมาไม่ได้ให้อำนาจผู้ร้องจะเสนอคดีต่อศาลได้ จึงสั่งไม่รับคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องแสดงว่า ที่ดินนั้น เป็นทีดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๓๐๔(๑) ซึ่งบุคคลจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิได้ ก็ฉะเพาะแต่การกระทำตามกฎหมายที่ดิน ดั่งที่ได้มีบทบังคับไว้ในมาตรา ๑๓๓๔ กฎหมายที่ดินดั่งว่านี้ ก็ได้มีปรากฎเป็นบทบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินเป็นลำดับมา จนถึงฉะบับที่ ๗ กรณีเช่นของผู้ร้องนี้ได้มีมาตรา ๑๓,๑๕ แห่ง พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉะบับที่ ๗) บังคับไว้แล้ว ส่วนการได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอายุความได้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๘๒ ป.ม.แพ่งฯ นั้น อสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นทรัพย์ที่บุคคลมีกรรมสิทธิอยู่ก่อนแล้ว สาธารณะสมบัติของแผ่นดินหาใช่ทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ หาเป็นแต่ทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือสงวนไว้ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉะบับที่ ๗) ๒๔๘๖ ประกอบกับกฎกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๖ วางวิธีการให้ผู้ขอจดทะเบียนการได้มา ซึ่งกรรมสิทธิที่ดินตาม ป.ม.แพ่งมาตรา ๑๓๘๒ ให้ต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น ก็มีความปรากฎชัดเจนอยู่แล้วในมาตรา ๑๔ แห่ง พ.ร.บ.และในข้อ ก. แห่งกฎนั้นว่า เป็นวิธีการสำหรับการได้มาซึ่งที่ดิน ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิแล้วเท่านั้น หาใช่เรื่องสำหรับที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีหนังสือสำคัญ ซึ่งมีกฎหมายบังคับไว้ชัดเจน.
พิพากษายืน.