คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 376/2481

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องเสียนั้น เมื่อไม่ปรากฎว่าการร้องขัดทรัพย์นั้นทำลงโดยไม่สุจริต จงใจจะให้โจทก์เสียหายแต่ถ่ายเดียวแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิด โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ร้องมิได้
อ้างฎีกาที่ 146/2480
พฤตติการณ์ที่ถือว่าเป็นการร้องขัดทรัพย์โดยสุจริตไม่ถือว่าเป็นการละเมิด

ย่อยาว

เดิมโจทก์ชนะความ ท.จึงนำยึดช้างพังไว้เชือกหนึ่ง จำเลยได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่าช้างเป็นของตน ขอให้ถอนการยึด ในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของจำเลยเสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายช้างนั้นไม่พอชำระหนี้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เรียกค่าเสียหาย ๒ จำนวน คือค่ารักษาช้างระหว่างขัดทรัพย์ และค่าป่วยการที่ควรได้ผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยจากเงินราคาช้าง
ศาลฎีกาตัดสินว่า การที่มีผู้ร้องขัดทรัพย์เข้ามาในสำนวนความโดยปรากำในภายหลังว่าผู้ร้องไม่มีกรรมสิทธิในทรัพย์นั้น จะเป็นการทำละเมิดตามประมวลแพ่ง ฯ ม.๔๒๐ หรือไม่ การร้องขัดทรัพย์นี้เป็นการใช้สิทธิทางศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๕๕ ในการใช้สิทธิทางศาลนี้ตามนัยฎีกาที่ ๑๔๖/๒๔๘๐ ได้วินิจฉัยเป็นบันทัดฐานแล้วว่า เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยใช้สิทธิของตนโดยไม่สุจริตแต่ประการใดแล้ว ก็ไม่เป็นผิดกฎหมาย ไม่เข้าประมวลแพ่ง ฯ ม.๔๒๐ สำหรับคดีนี้เห็นว่าจำเลยเข้าร้องขัดทรัพย์โดยสุจริต มิได้จงใจให้โจทก์เสียหายแต่ถ่ายเดียว แต่เป็นการเสนอขอให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิในช้างนั้นแล้ว แต่ในชั้นที่สุดศาลพิพากษาว่าไม่มีการโอนกรรมสิทธิกันจริงจัง ซึ่งที่จริงศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งว่าได้มีการโอนและจำเลยมีกรรมสิทธิจริง คดีขัดทรัพย์ของจำเลยจึงไม่ปราศจากมูลเสียทีเดียว การกระทำของจำเลยย่อมไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๔๒๐-๔๒๐ ไม่เป็นละเมิดตามกฎหมาย จึงพิพากษายืนตามศาลล่างทั้ง ๒ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share