คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1611/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แต่งงานกับบุตรจำเลย ๆ ได้ขายเรือนของจำเลยให้แก่โจทก์เป็นเรือนหอซึ่งในขณะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยายังใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียอยู่ ซึ่งตามกฎหมายนั้นเรือนหอเป็นสินเดิมของฝ่ายที่ออกทรัพย์ปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในเรือนหอเป็นของใคร จึงอยู่ที่ว่าได้ชำระราคากันแล้วหรือยัง หาใช่เรื่องการปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามลักษณะซื้อขายไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้ขัดขวางโจทก์ทำการชนเรือนของโจทก์ออกจากที่บ้านของจำเลยที่ ๑
จำเลยให้การทำนองเดียวกันว่า เรือนพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๓-๔ โดยจำเลยที่ ๑ ยกให้จำเลยที่ ๔ เมื่อก่อนสมรสกับจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นฟังว่าเรือนพิพาทเป็นเรือนหอของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ ๑ ขายให้ไปแล้วกรรมสิทธิ์ของเรือนจึงตกเป็นของโจทก์ พิพากษาห้ามจำเลยทุกคนเกี่ยวข้อง กับให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๕ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๕๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การซื้อขายเรือนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานจึงตกเป็นโมฆะ แต่ปัญหาว่าใครเป็นผู้รื้อเรือนไปปลูกในที่ดินโจทก์เพราะเหตุใด ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้วินิจฉัยตามนับแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ทำการสมรสกับนางสงวนบุตรจำเลยที่ ๑ ๆ ได้ขายเรือนพิพาทให้เป็นเรือนหอโดยคิดราคาเป็นเงิน ๗ ชั่ง ขณะนั้นเป็นเวลาเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยายังใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียบังคับอยู่ซึ่งตามกฎหมายนั้น เรือนหอตกเป็นสินเดิมของฝ่ายที่ออกทรัพย์ ปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในเรือนเป็นของใครจึงอยู่ที่ว่าได้ชำระราคากันแล้วหรือยัง ไม่ใช่เรื่องปฎิบัติถูกต้องครบถ้วนตามลักษณะสัญญาซื้อขายไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคาเรือนแล้ว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share