คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้ขับไล่โดยผู้เช่า กล่าวเพียงว่า จำเลยทำการค้าขาย โจทก์ย่อมสืบได้ว่า จำเลยทำการค้าในสถานที่เช่าอย่างไรเพียงใด ไม่เป็นการสืบนอกประเด็น แม้จะมิได้กล่าวในคำฟ้อง ว่าจำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ก็นำสืบได้ เมื่อจำเลยโต้เถียงขึ้นมา
ฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่มีคำขอนั้น ข้อความในฟ้องอุทธรณ์นั้นย่อมเข้าใจได้โดยปริยายว่า มีความมุ่งหมายให้ศาลอุทธรณ์บังคับตามคำฟ้องและคำขอบังคับเดิม ฟ้ออุทธรณ์นั้นย่อมใช้ได้
โจทก์จำเลยตกลขึ้นค่าเช่ากันก่อนใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ปี 2489 และการขึ้นค่าเช่านี้ไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าที่ใช้อยู่ในเวลานั้น คือ ฉะบับปี 2486 – 2488 ดังนี้ จะยกเอา พ.ร.บ.ฉะบับปี 2490 มาใช้บังคับไม่ได้ และแม้การค้างชำระค่าเช่าเกินกว่า 2 คราวติด ๆ กัน จะเกิดขึ้นภายหลังที่ใช้ พ.ร.บ. ปี 2489 แล้วพ.ร.บ. ปี 2490 ก็ไม่คุ้มครองในกรณีค้างชำระค่าเช่า เช่นนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องแถว ๕ คูหาในอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร จำเลยได้เช่าห้องแถวดังกล่าวจากโจทก์ และเข้าครอบครองทำการค้าขายมาจนปัจจุบัน บัดนี้จำเลยค้างชำระค่าเช่าเดือนละ ๑๒๐ บาท ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ๒๔๘๙ ขอให้ขับไล่จำเลย
จำเลยให้การต่อสู้มีใจความสำคัญว่า จำเลยเช่ามาแต่ พ.ศ.๒๔๗๙ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า เรื่องค่าเช่านั้นเดิมตกลงกันเดือนละ ๒๗ บาท ต่อมาเพิ่มเป็น ๔๕ บาท และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ เพิ่มเป็น ๖๐ บาท จำเลยได้ชำระให้โจทก์ตลอดมามิได้ค้าง และจำเลยไม่เคยชำระค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ ๑๒๐ บาท
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเช่าห้องของโจทก์ ๕ คูหานี้มาแต่ พ.ศ.๒๔๗๖ ค่าเช่าเดือนละ ๒๕ บาท ต่อมาเมษายน ๒๔๘๘ ได้ขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ ๔๕ บาท จำเลยได้ชำระค่าเช่าตามอัตรานี้มาจนถึง มกราคม ๒๔๘๙ สำหรับค่าเช่าเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน ๒๔๘๙ นั้น โจทก์อ้างว่าตกลงขึ้นเป็นเดือนละ ๑๒๐ บาท จำเลยยอมและได้ชำระให้โจทก์มาแล้ว จำเลยเถียงว่า ๓ เดือนนี้ จำเลยได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ ๖๐ บาท ต่อมาโจทก์จะขึ้นค่าเช่าเป็น ๑๒๐ บาท จำเลยจึงไม่ยอม ในปัญหาที่ว่าการเช่ารายนี้จะอยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าหรือไม่นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเข้าครอบครองทำการค้าขาย แล้วนำพะยานมาสืบเป็นทำนองว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่เป็นส่วนน้อย เท่าที่สืบมาก็น่าจะฟังว่าเป็นดังนั้น แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากคำแถลงปิดสำนวนของโจทก์ข้อ ๒ ว่า โจทก์ตีความฟ้องของโจทก์เองว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องมุ่งหมายที่จะให้ถือว่าทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ ข้อความตามที่สืบมาจึงเป็นอันรับฟังไม่ได้ จึงต้องฟังตามที่จำเลยต่อสู้ว่า ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น การเช่านี้จึงอยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ.ปี ๒๔๘๖ – ๒๔๘๘ การขึ้นค่าเช่าย่อมเป็นการต้องห้าม เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกันใหม่ จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ฟ้องรายนี้โจทก์ได้ใช้ทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่อยุ่ในความคุ้มครองแห่ง พ.ร.บ.ปี ๒๔๘๖ – ๒๔๘๘ โจทก์ย่อมขึ้นค่าเช่าได้ และเรื่องขึ้นค่าเช่าก็ฟังว่า จำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ขึ้นค่าเช่าตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์๒๔๘๙ เป็นเดือนละ ๑๒๐ บาทจริง และการขึ้นค่าเช่านี้ตกลงกันก่อนวันใช้ พ.ร.บ.ปี ๒๔๘๙ (พ.ร.บ.นี้ใช้เมื่อ ๑๒ มีนา ๘๙) จึงสมบูรณ์ เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระเป็นการผิดนัดเกินกว่า ๒ คราวติด ๆ กัน เข้าในข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ปี๒๔๘๙ มาตรา ๑๖ (๑) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่ได้ พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาข้อ ๑ ของจำเลยที่ว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทำการค้าขาย มิได้บรรยายว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ โจทก์จะสืบว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ เป็นการสืบนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์ย่อมมีสิทธิสืบได้ว่า จำเลยทำการค้าในสถานที่เช่าอย่างไรเพียงใด มิใช่สืบนอกประเด็น เพราะความข้อนี้ แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในคำฟ้อง โจทก์ก็มีสิทธิสืบได้ เมื่อจำเลยโต้เถียงขึ้นมา ส่วนข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่า จำเลยทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ และในข้อขึ้นค่าเช่าเป็น ๑๒๐ บาทนั้น ก็ฟังได้ว่า ได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าจริง
ส่วนฎีกาจำเลยที่ว่า อุทธรณ์โจทกืไม่เป็นอุทธรณ์ตามกฎหมาย เพราะไม่มีคำขอนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ชอบแล้วว่า ข้อความในฟ้องอุทธรณ์นั้นย่อมเข้าใจได้โดยปริยายว่า โจทก์มีความมุ่งหมายให้ศาลอุทธรณ์บังคับตามคำฟ้องและคำขอบังคับเดิม
ในที่สุดจำเลยฎีกาว่า ควรได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฉะบับ ๒๔๙๐ ข้อนี้ปรากฏว่า การขึ้นค่าเช่าเกิดก่อนใช้ พ.ร.บ.ฉบับ ๒๔๘๙ จึงยก พ.ร.บ.ฉะบับปี ๒๔๙๐ ที่จำเลยอ้างมาใช้บังคับไม่ได้ และแม้การค้างชำระค่าเช่าจะเกิดภายหลังใช้พ.ร.บ.ปี๒๔๘๙ พ.ร.บ.ปี๒๔๙๐ ก็ไม่คุ้มครองในกรณีค้างชำรค่าเช่าเช่นนี้ จึงพิพากษายืน

Share