คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเช่าซื้อเป็นนิติกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือการตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาเช่าซื้อจึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย
โจทก์มอบหมายให้ผู้จัดการแผนกเข้าทำสัญญาให้เช่าซื้อทรัพย์สินของโจทก์กับจำเลยโดยมิได้แต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ การแต่งตั้งมอบหมายจึงเป็นโมฆะโจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าโจทก์ได้แต่งตั้งให้ผู้จัดการแผนกเป็นตัวแทนโจทก์เข้าทำสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ก) การเช่าซื้อดังกล่าวจึงเท่ากับไม่ได้ทำเป็นหนังสือและเป็นโมฆะ สัญญาค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อนั้นจึงไม่อาจมีขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้มอบหมายให้นายจรูญ เลิศศิริ ผู้จัดการเข้าทำสัญญาให้เช่าซื้อโทรทัศน์กับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าเช่าหรือผิดสัญญาของจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ เช่าซื้อโทรทัศน์ไปแล้วได้ชำระค่าเช่าซื้อเพียงงวดเดียวแล้วก็ไม่ชำระ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑ ก็เพิกเฉยเสีย โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ ๒ ชำระ ก็ไม่ชำระ จึงต้องฟ้องขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าสัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์ โจทก์มีสิทธิฟ้องไม่เกิน ๘,๐๐๐ บาท โจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ยินยอม สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่สมบูรณ์ และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและราคาวิทยุโทรทัศน์ ๔,๐๐๐ บาท ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเช่าซื้อ กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๒ การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นจึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ โจทก์ไม่มีหนังสือแต่งตั้งมอบหมายให้นายจรูญผู้จัดการเป็นตัวแทนมาแสดง จังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์แต่งตั้งมอบหมายให้นายจรูญเป็นตัวแทนโจทก์เข้าทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ของโจทก์กับจำเลยที่ และจะนำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔(ก) การเช่าซื้อดังกล่าวจึงเท่ากับไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นโมฆะ สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงไม่อาจจะมีขึ้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๑ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ เฉพาะจำเลยที่ ๒

Share