คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวในฟ้องว่า ก. ไม่เป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรส จำเลยไม่ได้ต่อสู้ความข้อนี้ เป็นแต่กล่าวในคำให้การถึงเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์ว่า ทรัพย์นั้นเป็นสินสมรสของ พ. และ ก. ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อเป็นสามีภรรยากันมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือว่าในข้อที่ว่า พ. กับ ก. เป็นผัวเมียกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้ง จึงต้องฟังตามคำโจทก์ว่า พ. กับ ก. ไม่ได้เป็นผัวเมียกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
การที่ศาลจะแบ่งทรัพย์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่ใช่ผัวเมียกันอย่างเป็นเจ้าของร่วมนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่ชายหญิงทำมาหาได้มาด้วยกัน โดยเห็นเจตนาได้ว่าการที่เขาปฏิบัติต่อกันฉันท์สามีภรรยา และช่วยกันหาทรัพย์มาเช่นนี้ มีความประสงค์จะหาร่วมกัน
ตามมาตรา 1627 ป.ม.แพ่งฯ บุตรนอกกฎหมายถ้าบิดาได้รับรองแล้ว แม้จะยังไม่ถึงกับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ก็ยังอาจมีสิทธิรับมฤดกของชายผู้ให้กำเนิดได้ ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ป.ม.แพ่ง ฯ
จำเลยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรนอกกฎหมายของ พ. โจทก์ฟ้องห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มฤดกของ พ. แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า พ. ได้รับโองเด็กเป็นบุตร อันจะทำให้เด็กมีสิทธิได้รับมฤดกของ พ. หรือไม่ ยังไม่ปรากฎ ความข้อนี้คู่ความยกขึ้นโต้เถียงอย่างชัดแจ้งในศาลล่าง แต่เป็นปัญหาที่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้เยาว์ ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความ เพราะถ้าห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์นี้ในฐานที่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กผู้เยาว์ ผู้เยาว์อาจเสียหายได้ ดังนี้ย่อมเป็นข้อกฎหมายซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่ง ศาลฎีกามีอำนาจย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาในข้อนี้ แล้วพิพากษาใหม่.

ย่อยาว

ความว่า ทรัพย์รายพิพาทนี้ เดิมเป็นของนายชู โจทก์เป็นภริยานายชู แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน นายชูมีบุตรกับนางมีคนหนึ่ง คือนายเพ็ชร นายเพ็ชรได้เสียกับนางเกลื่อมและมีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่อีก ๓ คน คือเด็กชายสมพร เด็กชายถาวร และเด็กหญิงอารี ส่วนจำเลยเป็นบุตรติดมากับนางเกลื่อม นายเพ็ชรนางเกลื่อมได้ตายไปหมดแล้ว บุตรทั้ง ๓ คน โจทก์ได้เลี้ยงดูมา เดือน ๑๒ ปีที่ฟ้อง จำเลยได้แย่งเด็กชายถาวร เด็กหญิงอารีไปจากโจทก์ แล้วมาร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์และปกครองทรัพย์ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของนายเพ็ชร ส่วนเด็กชายสมพรยังคงอยู่กับโจทก์ จึงขอให้ศาลห้ามจำเลยอย่าให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์ของโจทก์ตามบัญชีท้ายฟ้อง จำเลยต่อสู้ว่า ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลช ๒-๔ เป็นมฤดกตกได้แก่นายเพ็ชร นางเกลื่อม หมายเลช ๑-๓-๕ เป็นสินสมรสของนายเพ็ชรนางเกลื่อม เป็นมฤดกตกได้แก่จำเลยและผู้เยาว์ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม คดีของโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นฟังว่านางเกลื่อมได้กับนายเพ็ชรโดยไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เด็กทั้ง ๓ ก็ไม่ใช่บุตรของนายเพ็ชรโดยชอบด้วย ก.ม. ไม่มีสิทธิรับมฤดกนายเพ็ชร จำเลยก็ไม่ใช่ลูกของนายเพ็ชร พิพากษาห้ามไม่ให้จำเลยเกี่ยวข้องทรัพย์ที่พิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า นางเกลื่อมไม่เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเพ็ชร เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรส จำเลยให้การว่าทรัพย์บางอย่างเป็นสินสมรสของนายเพ็ชรนางเกลื่อม สร้างขึ้นเมื่อเป็นสามีภริยากันมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่า ในข้อที่ว่านางเกลื่อมเป็นภริยากันมาชอบด้วยกฎหมายของนายเพ็ชรหรือไม่นั้น จำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ชัดแจ้ง คดีต้องฟังตามคำของโจทก์ว่านายเพ็ชรนางเกลื่อมไม่ใช่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อฟังว่าทรัพย์รายพิพาทเดิมเป็นของนายชู และต่อมาหากจะตกทอดมายังนายเพ็ชร ก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่นางเกลื่อมซึ่งมิใช่ภริยาจะมีส่วนได้ด้วย เพราะไม่ปรากฎว่าเป็นทรัพย์ที่นายเพ็ชรนางเกลื่อมได้ร่วมกันทำมาหาได้แต่ประการใด เมื่อนางเกลื่อมไม่มีสิทธิแล้ว นางสาวยินดีจำเลยในคดีนี้ซึ่งมิใช่บุตรนายเพ็ชรก็หามีสิทธิในทรัพย์นั้นไม่ ในฐานะส่วนตัวนางสาวยินดีไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องกับทรัพย์เหล่านี้ แต่ในฐานผู้ปกครองเด็กชายสมพร เด็กชายถาวรนั้น โจทก์อ้างในฟ้องว่าผู้เยาว์เหล่านี้ไม่มีสิทธิจะรับมฤดกของนายเพ็ชร เมื่อได้อ่านมาตรา ๑๖๒๗,๑๖๒๙ รวมกัน เห็นได้ว่าผู้สืบสันดานซึ่งมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะรับมฤดกอาจเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก็ได้ อาจเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรมก็ได้ ส่วนบุตรนอกกฎหมายถ้าบิดารับรองแล้ว แม้จะยังไม่ถึงกับเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ยังอาจมีสิทธิรับมฤดกของบิดาผู้ให้กำเนิดได้ ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) คดีเรื่องนี้โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า นายชูถึงแก่กรรม ทรัพย์ทั้งหมดตกได้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ปกครองตลอดมา นายเพ็ชรได้อยู่ในปกครองของโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายเลยว่า เหตุใดนายเพ็ชรจึงไม่มีส่วนได้ในทรัพย์มฤดกของนายชู ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างถึงว่า ได้ปกครอง แม้โจทก์จะได้ปกครองทรัพย์จริง แต่ก็ได้ปกครองนายเพ็ชรด้วย โจทก์ไม่ได้อ้างเหตุผลให้เห็นว่าเหตุใดนายเพ็ชรจึงไม่ได้ส่วนในมฤดก++++และตามคำบรรยายฟ้องก็เห็นได้ว่านายเพ็ชรมีส่วนได้เสียด้วย จึงถือเอาตามนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่านายเพ็ชรได้รับรองเด็กชายสมพร เด็กชายถาวร และเด็กหญิงอารีเป็นบุตรหรือไม่นั้น ยังไม่ปรากฎ ความข้อนี้คู่ความมิได้ยกขึ้นโต้เถียงอย่างชัดแจ้งต่อศาลล่าง แต่ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้เยาว์ ซึ่งมิได้เป็นความ เพราะถ้าห้ามจำเลยมิให้เข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์เหล่านี้ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์แล้ว ผู้เยาว์อาจเสียหายได้ ศาลจึงสมควรจะระมัดระวังประโยชน์ให้แก่ผู้เยาว์ อนึ่งข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฉะนั้นอาศัย ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๒๔๙ วรรค ๒. มาตรา ๒๔๐ (๒) และมาตรา ๒๔๗ ศาลฎีกาจึงเห็นชอบที่จะให้ดำเนินคดีต่อไปจนสิ้นกระแสร์ความ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความตามแนวข้อกฎหมาย ที่กล่าวแล้ว.

Share