แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองจำเลย ในที่สุดตกลงกันให้นำที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้จำนองโจทก์ ก่อนขายมีบุคคลภายนอกยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งระงับการขาย โดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้นร่วมกับจำเลย และผู้ร้องได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยครึ่งหนึ่งแล้ว กับยังได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสัญญาจำนองและสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ด้วย ดังนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินแปลงนั้นไว้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 (2) ประกอบกับข้อความในวรรคสุดท้ายของมาตรานั้น และมาตรา 306
ย่อยาว
ศาลแพ่งพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความว่า จำเลยยอมใช้หนี้จำนองให้โจทก์ภายในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๐๔ หากจำเลยไม่อาจปฏิบัติได้ก็ยอมโอนที่ดินโฉนด ๑๕๐๖๔ ซึ่งโจทก์ฟ้องบังคับจำนองนั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ภายในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๐๔ โดยให้ถือว่าเป็นอันชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว
ครั้นวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๔ จำเลยแถลงต่อศาลว่าไม่อาจชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา เพราะจำเลยถูกนายชัย ทองไทยฟ้องขอแบ่งครึ่งที่ดินโฉนด ๑๕๐๖๔ ในที่สุดโจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้ศาลจัดการขายทอดตลาดที่ดินโฉนด ๑๕๐๖๔ เสียเพื่อเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์ในฐานะผู้รับจำนอง ศาลแพ่งได้มีหมายบังคับเพื่อยึดที่ดินดังกล่าวขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์
ต่อมาวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ นายชัย ทองไทย ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งระงับการขายทอดตลาดที่ดินโฉนด ๑๕๐๖๔ ไว้ก่อน โดยอ้างเหตุว่าผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยเพื่อขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายนี้อยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีแล้ว ปรากฏตามคดีแดงของศาลแพ่งที่ ๓๐๖, ๓๐๗/๒๕๐๓ (ซึ่งรวมพิจารณา) คดีอยู่ระหว่างฎีกา นอกจากนี้ ผู้ร้องยังได้ฟ้องโจทก์กับจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยร่วมกันในคดีดำของศาลแพ่งที่ ๒๖๔๘/๒๕๐๔ อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนด ๑๕๐๖๔ และเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้เสียด้วย เนื่องจากเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ ถ้ามีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนด ๑๕๐๖๔ ไปแล้ว หากผู้ร้องชนะคดีก็จะเป็นการยุ่งยากในการบังคับคดี จึงขอให้ศาลสั่งระงับการขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้ไว้ก่อน จนกว่าคดีดังกล่าวทั้ง ๓ สำนวนจะถึงที่สุด
โจทก์รับว่า มีคดีพิพาทอยู่ในศาลตามที่ผู้ร้องอ้างจริง แต่ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะสั่งระงับการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวได้
ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า ถึงแม้ในที่สุดผู้ร้องจะชนะคดีทั้ง ๓ สำนวน ผลก็มีเพียงว่าผู้ร้องได้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ร่วมกับจำเลย ฉะนั้น หากมีการบังคับคดีขายทอดตลาดไป ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิขอให้กันส่วนของผู้ร้องไว้ต่างหากได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗, ๒๘๙ ทังคดีนี้ยังมิได้มีการขายทอดตลาด จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๒ (๒) ประกอบกับข้อความในวรรคสุดท้ายของมาตรานั้น และมาตรา ๓๐๖ บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียอาจคัดค้านการขายทรัพย์ในการบังคับคดีได้ เมื่อศาลได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาเห็นเป็นการสมควรก็มีคำสั่งให้งดการขายไว้ได้ คดีนี้ ผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้ขายทอดตลาดร่วมกับจำเลย ทั้งผู้ร้องได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย และได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสัญญาจำนองและสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ไว้แล้วด้วย เท่ากับผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี จึงมีสิทธิร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้ไว้ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕๐/๒๕๙๔
ข้อที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นเพียงเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลย หากมีการบังคับคดีขายทอดตลาดไป ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิขอให้กันส่วนของผู้ร้องไว้ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องได้ฟ้องขอทำลายนิติกรรมจำนองและสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ไว้ด้วย ซึ่งหากศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีและที่ดินได้ถูกขายทอดตลาดไปเสียแล้ว ผู้ร้องย่อมได้รับความเสียหาย จึงชอบที่จะร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้ไว้ได้
ศาลพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้งดการขายทอดตลาดที่ดินโฉนด ๑๕๐๖๔ ไว้ก่อน จนกว่าคดีของศาลแพ่งแดงที่ ๓๐๖, ๓๐๗/๒๕๐๓ และดำที่ ๒๖๔๘/๒๕๐๔ จะถึงที่สุด