แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเกิดปากเสียงกับนายชิงชองแล้วถูกนายชิงชองชกต่อยเอา แต่จำเลยกลับนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่ามีนักเลง 3 คนกลุ้มรุมทำร้ายจำเลย โดยคนหนึ่งใช้ไม้ตี คนหนึ่งล๊อคคออีกคนหนึ่งล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อไป 300 บาท ซึ่งเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการแกล้งจะให้นายชิงชองต้องรับโทษหนักขึ้นและเป็นการกล่าวหาว่านายชิงชองกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 174 ประกอบด้วยมาตรา 181 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๔, ๑๘๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไปทวงหนี้นางกุ้ยเองแล้วเกิดเถียงกัน นายชิงชองน้องผัวนางกุ้ยเองได้เข้ามาและเปิดปากเสียงกับจำเลยอีก นายชิงชองได้ใช้กำลังชกต่อยจำเลย ๆ จึงไปแจ้งความกับนายร้อยตำรวจโทวินิจรองสารวัตรสถานีตำรวจบางรักว่าจำเลยนำบุหรี่ไปส่งที่ตรอกสองพระ มีนักเลง ๓ คน มากลุ้มรุมทำร้ายจำเลย โดยคนหนึ่งใช้ไม้ตีหลัง อีกคนหนึ่งล็อคคอ อีกคนหนึ่งล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อไป ๓๐๐ บาท จำเลยพานายร้อยตำรวจโทวินิจไปยังที่เกิดเหตุ นายร้อยตำรวจโทวินิจสอบถามแล้วได้ความว่าจำเลยมาทวงหนี้นางกุ้ยเอง แล้วเกิดปากเสียงกับนายชิงชอง ๆ นายชกต่อยจำเลย ไม่มีเรื่องแย่งชิง นายชิงชองรับว่าชกต่อยจำเลยจริง จำเลยก็รับว่าจริง และเงินหายที่ไหนไม่ทราบ ทางตำรวจเปรียบเทียบปรับนายชิงชองเป็นเงิน ๕๐ บาท ส่วนจำเลยนั้นนายร้อยตำรวจโทวินิจ เห็นเป็นเรื่องแจ้งความเท็จ ทำให้นายชิงชองและทางราชการตำรวจเสียหาย จึงสอบสวนดำเนินคดีนี้ขึ้นมา
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จ การแจ้งความมิได้เจาะจงตัวผู้กระทำผิด จำเลยจึงผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ มาตราเดียว พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๑ เดือน และปรับ ๒๐๐ บาท โทษจำยก
โจทก์อุทธรณ์ว่าเป็นการกระทำผิดตามมาตรา ๑๗๔ และ ๑๘๑ และขอให้ลงโทษให้หนักขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเอาความเท็จมาแจ้งต่อนายร้อยตำรวจโทวินิจ ซึ่งเป็นรองสารวัตรสืบสวนและสอบสวนแล้วนำนายร้อยตำรวจโทวินิจไปในที่เกิดเหตุเพื่อจับกุมคนที่มีเรื่องกับตน คือ นายชิงชอง นายร้อยตำรวจโทวินิจ ได้จับนายชิงชองไปเป็นผู้ต้องหา และความปรากฏว่าที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาอันเป็นเรื่องปล้นทรัพย์นั้นเกินความจริงไป ความจริงเป็นเรื่องจำเลยมีปากเสียงกับนายชิงชอง และถูกนายชิงชองชกต่อยเอาเท่านั้น หาได้มีการชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์กันไม่ การกระทำของจำเลยเห็นด้ว่า การแจ้งความเท็จของจำเลยเป็นการแกล้งจะให้นายชิงชองต้องรับโทษหนักขึ้นนั่นเอง จำเลยจึงมีความผิดดังโจทก์ฎีกาขึ้นมา คำแจ้งความเท็จของจำเลยเป็นการกล่าวหาว่านายชิงชองกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๕ ปี ถึง ๑๐ ปี การกระทำของจำเลยจึงต้องด้วยมาตรา ๑๘๑ (๑) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๗ ปี จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๑๗๔ ประกอบด้วยมาตรา ๑๘๑ (๑) ให้จำคุก ๖ เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี