แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นฟังว่า “ฯลฯ ขณะจับก็ยังพบ(โจทก์)คาดเข็มขัดตำรวจและมีนาฬิกาข้อมือที่ตามวิทยุว่าถูกลักมาอยู่ด้วยดังนี้ โจทก์ย่อมจะต้องถูกจับอยู่เองเป็นธรรมดา” ดังนี้ แม้นาฬิกาที่จับได้จากโจทก์เป็นยี่ห้อวิลน่า ส่วนตามวิทยุสั่งจับนั้นเป็นยี่ห้อฮอนซ่าก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่ฟังว่า จำเลยพบโจทก์มีนาฬิกาข้อมือตรงกับที่วิทยุว่านาฬิกาข้อมือเป็นของที่ถูกลัก อันเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นประกอบข้อพิรุธอื่น ๆ ของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นพลตำรวจสำเริงซึ่งต้องหาว่าลักนาฬิกาข้อมือเท่านั้น ศาลชั้นต้นมิได้ฟังเลยไปถึงว่านาฬิกาที่โจทก์ใส่อยู่นั้นเป็นของร้าย อันเป็นของกลางที่จับได้จากโจทก์อย่างใด หาเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนไม่
จำเลยเข้าใจว่า คำสั่งของร้อยตำรวจเอกสุรพลผู้ทำการแทนผู้กำกับที่สั่งให้จำเลยไปจับกุมโจทก์นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้วิทยุสั่งจับมิได้มีข้อความแสดงว่าได้ออกหมายจับแล้ว กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 70 จำเลยไม่ต้องรับโทษ(อ้างฎีกาที่ 1135/2508)
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ” ฯลฯ ในเรื่องสาเหตุจำเลยที่ 2 ก็สามารถนำนางสาวน้อยหรือแมวมาเบิกความแสดงความบริสุทธิ์ได้อีกว่า แท้จริงจำเลยกับนางสาวน้อยหรือแมวไม่ได้เคยรู้จักกันเลย ฯลฯ ” ดังนี้ เมื่อนางสาวน้อยหรือแมวซึ่งจำเลยนำสืบเบิกความว่าไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน คดีจึงมีคำพยานสนับสนุนให้ศาลชั้นต้นฟังว่านางสาวแมวไม่รู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อนไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองรับราชการเป็นตำรวจภูธรประจำสถานีตำรวจภูธร รู้ดีว่าตนไม่มีอำนาจมีเจตนาให้โจทก์ถูกคุมขัง แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าโจทก์มีชื่อว่าพลตำรวจสำเริง จับโจทก์มายังสถานีตำรวจในข้อหาว่าลักทรัพย์แล้วหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ถึง ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๐,๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลแขวงราชบุรีรับอุทธรณ์โจทก์ข้อกฎหมาย ๒ ข้อ คือ : –
๑. ศาลชั้นต้นฟังว่า “ฯลฯ ขณะจับก็ยังพบว่า(โจทก์)คาดเข็มขัดตำรวจและมีนาฬิกาข้อมือที่ตามวิทยุว่าถูกลักมาอยู่ด้วย ดังนี้ โจทก์ย่อมจะถูกจับกุมอยู่เองเป็นธรรมดา ฯลฯ” แต่นาฬิกาที่จับได้จากโจทก์เป็นยี่ห้อวิลน่า ส่วนตามวิทยุสั่งจับนั้นยี่ห้อฮอนซ่า จึงไม่ใช่ของร้าย การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นการคลาดเคลื่อนนอกท้องสำนวน
๒. ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า “ฯลฯ ในเรื่องสาเหตุ จำเลยที่ ๒ ก็สามารถนำนางสาวน้อยหรือแมวมาเบิกความแสดงความบริษัทได้อีกว่าแท้จริงจำเลยที่ ๒ กับนางสาวน้อยหรือแมวไม่ได้เคยรู้จักกันเลย ฯลฯ” แต่นางสาวน้อยหรือแมวซึ่งจำเลยนำสืบเบิกความว่า เพิ่งรู้จักโจทก์ เมื่อราว ๓ เดือนก่อนที่จะมาเป็นพยานที่ศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นเวลาภายหลังการจับกุมและนางสาวน้อยที่โจทก์ว่าก็ไม่มีใครเรียกว่าแมว นอกจากโจทก์คนเดียว จำเลยที่ ๒ จะรู้ได้อย่างไรว่าพยานชื่อแมว พยานจึงไม่ใช่นางแมวที่โจทก์กล่าวถึง ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ ๒ กับนางแมวไม่รู้จักกันและไม่มีเรื่องที่โจทก์จะหึงจำเลยที่ ๒ ก็เป็นการคลาดเคลื่อนนอกท้องสำนวนเช่นเดียวกัน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยนอกคำพยานหลักฐานในสำนวน พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องนาฬิกาข้อมือนั้น ศาลชั้นต้นเพียงแต่ฟังว่าจำเลยพบโจทก์มีนาฬิกาข้อมือตรงกับที่วิทยุว่านาฬิกาข้อมือเป็นของที่ถูกลัก อันเป็นข้อสังเกตุเบื้องต้นประกอบข้อพิรุธอื่น ๆ ของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นพลตำรวจสำเริงซึ่งต้องหาว่าลักนาฬิกาเท่านั้น ศาลชั้นต้นมิได้ฟังเลยไปว่านาฬิกาที่โจทก์ใส่อยู่นั้นเป็นของร้ายอันเป็นของกลางที่จับได้จากโจทก์แต่อย่างใด หาเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนไม่ ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่มีเหตุที่จะจับโจทก์ได้เพราะวิทยุสั่งจับมิได้มีข้อความแสดงว่าได้ออกหมายจับนั้น เห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ จำเลยย่อมเข้าใจว่าคำสั่งของร้อยตำรวจเอกสุรพลผู้ทำการแทนผู้กำกับการที่สั่งให้จำเลยไปจับกุมโจทก์นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนอกจากเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาให้จำเลยกระทำการอันเป็นหน้าที่ของจำเลยแล้ว ยังมีวิทยุโทรศัพท์จากกรมตำรวจสั่งให้มาจับอีกด้วย แม้วิทยุมิได้แจ้งว่าได้ออกหมายจับแล้ว กรณีก็ต้องด้วยมาตรา ๗๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจำเลยไม่ต้องรับโทษ(อ้างฎีกาที่ ๑๑๓๕/๒๕๐๘)
ในเรื่องสาเหตุ นางสาวสุรีย์หรือน้อยหรือแมวที่จำเลยนำสืบ ก็เบิกความว่าไม่เคยรู้จักจำเลยที่ ๒ มาก่อน คดีจึงมีคำพยานสนับสนุนให้ศาลชั้นต้นฟังว่านางสาวแมวไม่รู้จักจำเลยที่ ๒ มาก่อน ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน
พิพากษายืน