แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สมาชิกสภาเทศบาลหรือราษฎรในท้องถิ่นนั้น ไม่มีสิทธิที่จะมาร้องหรือฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการประชุมสภาเทศบาล โดยอ้างว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 เพราะ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างไรเลย กรณีต่างกับในเรื่องเลือกตั้ง ซึ่งมีบทบัญญัติให้สิทธิเช่นนี้ไว้ หรือแม้แต่ในเรื่องหุ้นส่วนบริษัทก็ยังมี ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 1195 ให้ศาลถอนมติของที่ประชุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องมีใจความว่า โจทก์ที่ ๑ ถึง ที่ ๙ เป็นสมาชิกเทศบาลประเภทที่ ๑ โดยราษฎรเป็นผู้เลิอกตั้ง จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จำเลยที่ ๒-๓-๔-๕-๖ เป็นสมาชิกเทศบาลประเภทที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ได้เรียกประชุมสมาชิกทั้ง ๒ ประเภท เพื่อแต่งตั้งประธานสภาเทศบาลรองประธานนายกเทศมนตรี และเทศมนตรี แต่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ ได้ยื่นใบลาลาออกจากสมาชิกเทศบาล โดยยื่นแก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ก็ยังขืนเปิดประชุมสภาเทศบาล ซึ่งมีสมาชิกเทศบาลประเภทที่ ๒ ฝ่ายเดียวเข้าประชุมแล้ว ได้มีการแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นประธานสภา จำเลยที่ ๓ เป็นรองประธาน จำเลยที่ ๔ เป็นนายกเทศมนตรี จำเลยที่ ๕-๖ เป็นเทศมนตรี การกระทำของจำเลยที่ + เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๕,๑๗,๒๐,๒๑ และ๓๗ การแต่งตั้งจึงไม่ชอบ ให้โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเขตเทศบาล จึงขอให้ศาลเพิกถอนการประชุมสภาเทศบาลเมืองอ่างทอง ดังกล่าว และเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ ๑ ที่แต่งตั้งประธานสภา รองประธานสภากับคณะเทศมนตรีเมืองอ่างทอง
จำเลยต่อสู้คดีหลายประการ และตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้อง ได้ตาม ป.ม.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๕ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีที่โจทก์นำมาฟ้องนี้กล่าวโดยสรุป ก็คือ โจทก์เห็นว่าการที่บุคคลหมู่หนึ่ง เข้านั่งประชุมและลงมติกันไปนั้น ไม่เป็นการประชุมของสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการกระทำทั้งหลายเนื่องจากการประชุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะถือว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาลอย่างไรไม่ได้ ใน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างไรเลย กรณีต่างกันในเรื่องเลือกตั้ง ซึ่งมีบทบัญญัติให้สิทธิเช่นนี้ไว้ หรือแม้แต่ในเรื่องหุ้นส่วนบริษัท ก็ยังมี ป.ม.แพ่ง ฯมาตรา ๑๑๔๕ ให้ศาลถอนมติของที่ประชุม ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทไว้ สำหรับกรณีของโจทก์ในคดีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะต้องใช้ในทางศาลไว้เลย โจทก์ไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะนำคดีมาให้ศาลวินิจฉัยความเห็นแตกต่างกันระหว่างโจทก์จำเลย ส่วนสำหรับในปัญหาที่ว่า ได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ อย่างไรหรือไม่นั้น ศาลฎีกามองไม่เห็นว่า บุคคลที่เข้าประชุมกันนั้น ได้ทำการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์แต่ประการใด ฯลฯ
จึงพิพากษายืน