แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า”พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง” ในมาตรา 26 แห่งสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พ.ศ. 2486 ย่อมหมายความรวมถึงพระภิกษุในวัดอื่นด้วย
ระเบียบว่าด้วยการจัดการศาสนสมบัติของวัดตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 จะต้องเป็นระเบียบตามมาตรา 49 ระเบียบเกี่ยวกับการที่วัดต่าง ๆ จะถอนการจัดการดังกล่าวนอกจากไม่ใช่ระเบียบซึ่งมีมาแต่เดิม และยังไม่ใช่ระเบียบที่ได้ตราขึ้นตามมาตรา 49 ดังนี้ การที่วัดโจทก์ถอนกรมการศาสนาจากการเป็นตัวแทนโดยไม่ขออนุมัติคณะสังฆมนตรี ก็เป็นการเพิกถอนที่ใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าพระเทพคุณาธารเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่งตั้งนายอำนวยไวยาวัจกรเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวเลขที่ ๓๐ เดิมโจทก์มอบให้กรมการศาสนาเป็นตัวแทนจัดการทำสัญญาเช่าเก็บผลประโยชน์และนางสาวเพชรเป็นผู้เช่า ค่าเช่าเดือนละ ๑๓.๖๐ บาท ต่อมาโจทก์เพิกถอนการแต่งตั้งกรมการศาสนาเป็นตัวแทน แล้วจัดการเก็บผลประโยชน์เอง แจ้งให้ผู้เช่าติดต่อกับโจทก์ นางสาวเพชรไม่ยอมติดต่อ จึงถือว่านางสาวเพชรอยู่อาศัยในตึกแถวของโจทก์โดยละเมิด นางสาวเพชรถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นบริวารอยู่อาศัยตลอดมาโดยละเมิดขอให้ศาลขับไล่จำเลยและบริวาร และให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า การปกครองคณะสงฆ์และการจัดการศาสนสมบัติเป็นอำนาจของคณะสังฆมนตรีจะดำเนินตามกฎหมาย วัดพลับพลาไชยไม่ได้ดำเนินตามระเบียบว่าด้วยการจัดการศาสนสมบัติของวัดหรือฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับศาสนสมบัติของวัดได้แต่ให้กรมการศาสนาเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการมิใช่วัดเป็นผู้มอบอำนาจให้กรมการศาสนาเป็นตัวแทน วัดไม่มีอำนาจเพิกถอนอำนาจจัดการของกรมการศาสนา ไม่มีอำนาจจัดการศาสนาสมบัติของวัด พระเทพคุณาธารไม่ใช่เจ้าอาวาสโดยชอบ ไม่มีอำนาจจัดการให้เช่าหรือเก็บผลประโยชน์ค่าเช่าตึกแถว ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พระเทพคุณาธาร เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสโดยชอบ มีอำนาจมอบให้นายอำนวย เหลือสินทรัพย์ เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ วัดโจทก์มีอำนาจเพิกถอนอำนาจกรมการศาสนาในการจัดการผลประโยชน์แทนวัดได้ นางสาวเพชรรับแจ้งให้ทราบถึงการเพิกถอนอำนาจแล้วไม่ยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. ๒๕๐๔ พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายในปัญหาว่า
(๑) พระเทพคุณาธารเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโจทก์โดยชอบหรือไม่
(๒) โจทก์มีอำนาจเพิกถอนการจัดการผลประโยชน์ของวัดโจทก์จากกรมการศาสนาหรือไม่
(๓) หนังสือกรมการศาสนาที่ ๖๖๐/๒๔๙๕ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ และหนังสือที่เกี่ยวข้องจะเป็นระเบียบการดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติของวัดซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ตราไว้ด้วยความเห็นชอบของสังฆมนตรีตามความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ หรือไม่
ตามฎีกาข้อ (๑) ข้อเท็จจริงได้ความว่า พระเทพคุณาธารเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์และเป็นเจ้าคณะอำเภอป้อมปราบ วัดพลับพลาไชยโจทก์อยู่ในเขตอำเภอป้อมปราบ เดิมมีพระภิกษุหลายรูปเป็นคณะกรรมการรักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสซึ่งมรณภาพไปแล้ว ต่อมาเจ้าคณะจังหวัดได้มีหนังสือถึงพระเทพคุณาธารซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นพระศีลขันธโศภิตในฐานะเจ้าคณะอำเภอ ว่าการให้พระภิกษุร่วมเป็นคณะกรรมการรักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาส เป็นการขัดต่อมาตรา ๒๖ แห่งสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พ.ศ. ๒๔๘๖ ให้รีบดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง พระเทพคุณาธารจึงนัดประชุมพระภิกษุสามเณร ณ วัดพลับพลาไชยแจ้งคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดพระนครให้ทราบ สั่งยุบคณะกรรมการรักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพลับพลาไชยและดำเนินการเลือกผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส พระเทพคุณาธารรับเป็นผู้รักษาการตามที่ที่ประชุมขอร้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง” ในมาตรา ๒๖ แห่งสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พ.ศ. ๒๔๘๖ หมายความรวมถึงพระภิกษุในวัดอื่นด้วย เพราะสังฆาณัติมิได้กำหนดเงื่อนไขหรือระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าต้องเป็นพระภิกษุในวัดที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลงเท่านั้น นอกจากนี้มาตรา ๒๓ ก็บัญญัติว่า ถ้าตำแหน่งเจ้าคณะตำบลว่างลง ให้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ แห่งสังฆาณัติระเบียบการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๔๘๕ คือ ให้เจ้าคณะอำเภอรักษาการแทน การที่พระเทพคุณาธารรับเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพลับพลาไชยเอง จึงเท่ากับได้ใช้อำนาจสั่งการแทนเจ้าคณะตำบลอยู่ในตัวแล้ว พระเทพคุณาธารจึงเป็นผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสวัดพลับพลาไชยโดยชอบด้วยสังฆาณัติแล้ว
สำหรับฎีกาข้อ ๒,๓ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมกรมการศาสนาเป็นตัวแทนวัดพลับพลาไชยโจทก์ในการจัดประโยชน์ของวัด ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๙ เพิกถอนการแต่งตั้ง ปัญหาที่จะต้องพิจารณามีเฉพาะที่จำเลยอ้างว่าระเบียบเกี่ยวกับการที่วัดต่าง ๆ จะขอถอนการจัดการประโยชน์นี้ได้มีมานานแล้ว ยังไม่ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ จนกว่าจะมีระเบียบที่ตราขึ้นตามความในมาตรา ๔๙ การถอนอำนาจกรมการศาสนาตามหนังสือของวัดโจทก์ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๙ โดยไม่ได้ขอนุมัติคณะสังฆมนตรีตามระเบียบดังกล่าว เป็นการไม่ชอบนั้นถูกต้องหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบเกี่ยวกับการที่วัดต่าง ๆ จะขอถอนการจัดประโยชน์ที่จำเลยอ้างนี้ มิได้อ้างอิงว่าออกโดยอาศัยอำนาจตามบทกฎหมายใด ใครเป็นผู้ตราขึ้น และตราขึ้นเมื่อใดก็ไม่ปรากฏแต่กลับจะเห็นได้จากความในข้อ(๘)ว่า ระเบียบนี้มีขึ้นเมื่อใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ แล้ว เพราะข้อ(๘)กำหนดว่า “การขออนุมัติจัดประโยชน์ของวัด ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบของเจ้าคณะตามลำดับจนถึงคณะสังฆมนตรี” และคณะสังฆมนตรีเป็นสถาบันที่เพิ่งมีขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๙๔ นี้เอง ข้อที่จำเลยอ้างว่าระเบียบนี้มีมานานหรือนัยหนึ่งมีมาก่อนใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงฟังไม่ได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๗ ตัวการย่อมจะถอนตัวแทนเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ เฉพาะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็มีบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศาสนสมบัติอยู่ตามมาตรา ๔๓ และ ๔๙
มาตรา ๔๓ บัญญัติว่า “เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (๑) บำรุงรักษาจัดการวัดและสมบัติของวัดให้เป็นไปโดยระเบียบเรียบร้อยตามสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบ ฯลฯ ” มาตรา ๔๙ บัญญัติว่า “ศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามระเบียบซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะได้ตราไว้ด้วยความเห็นชอบของคณะสังฆมนตรี” เห็นได้ว่าระเบียบว่าด้วยการจัดการศาสนสมบัติของวัดตามมาตรา ๔๓ นั้น จะต้องเป็นระเบียบตามมาตรา ๔๙ ระเบียบเกี่ยวกับการที่วัดต่าง ๆ จะขอถอนการจัดประโยชน์ดังกล่าวนอกจากไม่ใช่ระเบียบซึ่งมีมาแต่เดิมแล้ว ยังเห็นได้ตามข้อสังเกตข้างต้น และตามที่จำเลยว่า “ยังไม่ถูกยกเลิก ฯลฯ จนกว่าจะมีระเบียบที่ได้ตราขึ้นตามมาตรา ๔๙ ” นั้นว่า ไม่ใช่ระเบียบที่ได้ตราขึ้นตามมาตรา ๔๙ ฉะนั้น การที่วัดโจทก์ถอนกรมการศาสนาจากการเป็นตัวแทน ตามหนังสือลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๙ โดยไม่ขออนุมัติคณะสังฆมนตรี ก็เป็นเพิกถอนที่ใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๗ แล้ว
พิพากษายืน