คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้าในราชอาณาจักรตามทางใดนอกจากทางอนุมัติ ฯ” ดังนี้ เห็นด้วยว่าเป็นการห้ามไว้อย่างเด็ดขาด ฉะนั้น แม้พนักงานศุลกากรจะได้อนุญาตให้จำเลยขนส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติ ก็ไม่อาจลบล้างข้อห้ามตามกฎหมายและไม่เป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๐๓ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยสมคบกับนำรถยนต์โอเปลหนึ่งคันราคา ๑๓,๒๐๐ บาท ซึ่งจะต้องเสียอากรขาเข้า ๗,๒๖๐ บาท โดยพาหนะเรือจากประเทศลาวเข้ามาในราชอาราจักรไทยด้านจังหวัดหนองคาย นอกเขตช่องทางที่ทางการอนุมัติ โดยมิได้เสียภาษี ไม่ผ่านด่านศุลกากรตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๓๒ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๘๐ มาตรา ๕, ๑๐ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๖, ๑๖, ๑๗ พระราชบัญญัติตุลากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ขอให้ริบของกลาง และจ่ายสินบนและรางวัลตามกฎหมาย
เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิม ขอให้การใหม่ว่า จำเลยทั้งหมดได้นำรถยต์เข้ามาในราชอาณาจักรไทยจริงโดยทางเรือจากประเทศลาว โดยจำเลยได้ขออนุญาตจากด่านศุลกากรอำเภอศรีเชียงใหม่ และปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรครบถ้วน เจ้าพนักงานให้นำเข้ามาเพื่อเสียภาษีได้แล้ว จำเลยกับพวกได้นำรถยนต์เข้ามาที่หาดบ้านเหนือนอกเขต เขตท่าด่านและช่องทางอนุมัติของด่านศุลกากรอำเภอศรีเชียงใหม่ โดยมีเจ้าพนักงานศุลกากรไปรอรับอยู่ที่นั่น และจำเลยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานศุลกากรให้นำรถยนต์เข้ามาที่หาดทรายบ้านเหนือนอก เขตท่าด่าน และช่องทางอนุมัติของด่านศุลกากรอำเภอศรีเชียงใหม่ โดยมีเจ้าพนักงานศุลกากรไปรอรับอยู่ที่นั่น และจำเลยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานศุลกากร ให้นำรถยนต์เข้ามาที่หาดทรายนั้น
ศาลจังหวัดหนองคายพิจารณาแล้วฟังว่า เมื่อก่อนจำเลยจะนำรถยนต์เข้ามา นายบัวเรียนได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานด่านศุลกากรอำเภอศรีเชียงใหม่ขอนำรถยนต์เข้ามาที่หาดทรายบ้านเหนือนอกเวลาราชการ เพราะที่ด่านตลิ่งสูงชันนำรถยนต์ขึ้นไม่ได้ นายพิศผู้รักษาการแทนนายด่านได้สั่งอนุญาตและสั่งให้นายจำลองนายฉลวย พนักงานด่านศุลกากรไปรอรับรถยนต์ด้วยกันที่หาดทรายบ้านเหนือ เมื่อนายบัวเรียนกับพวกนำรถยนต์มาที่หาดทรายแล้ว นายพิศได้ตรวจดูรถยนต์ตรงกับคำร้องที่ขำนำเข้ามาแล้ว ยังมิได้ออกใบผ่านด่านขาเข้าให้ เพื่อให้นายบัวเรียนเสียภาษีที่ด่านศุลกากรต่อไป ซึ่งแสดงว่านายบัวเรียนกับพวกมิได้มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๘๐ มาตรา ๕ ห้ามมิให้ขนส่งของหรือพยายามขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักรนอกเขตทางอนุมัติ คดีนี้จำเลยสมคบกันนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรไทยนอกเขตทางอนุมัติ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว เพราะการที่บุคคลจะนำของเข้ามาจะต้องเข้ามาในทางอนุมัตินั้นเป็นข้อกฎหมาย มิใช่ข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะขอเปลี่ยนทางอนุมัติก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวอันชอบ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทุกคนมีผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๘๐ มาตรา ๕, ๑๐ ซึ่งต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ และเพราะราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ลดแล้วปรับจำเลยทุกคน ๔๐,๙๒๐ บาท ของกลางตามฟ้องให้ริบกับให้จ่ายสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ คือให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของค่าปรับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๘๐ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขนส่งหรือพยายามขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักร หรือตั้งแต่เขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากรหรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนนั้นตามทางใด ๆ นอกจากทางอนุมัติ หรือในเวลาใด ๆ นอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การขนส่งของตามทางอนุมัติในเวลาอื่นนอกจากที่กำหนดในวรรคก่อนนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิบดีหรือผู้แทนและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งอธิบดีกำหนดขึ้นไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ฯลฯ” ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๕ นี้ได้บัญญัติห้ามไว้อย่างเด็ดขาดว่า ห้ามิให้ผู้ใดขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักรตามทางใด นอกจากทางอนุมัติ แม้แต่ขนส่งของในเวลาใด ๆ นอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนดก็ต้องห้าม แต่การขนส่งของนอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนดยังอนุญาตให้ทำได้ในเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากอธิบดีหรือผู้แทน ส่วนการขนส่งของนอกจากทางอนุมัตินั้น ไม่ได้บัญญัติให้ทำได้ในเมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้แทนไว้เลย จึงแสดงว่ากฎหมายไม่ยอมให้มีการขนส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติ และไม่ยอมให้มีการอนุญาตให้ส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติได้เลย ฉะนั้น แม้พนักงานศุลกากรอนุญาตให้ผู้ใดขนส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติ ก็ไม่อาจลบล้างข้อห้ามตามกฎหมาย และไม่เป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ คดีนี้จำเลยรับว่าได้ขนส่งรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร จึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยจะอ้างความเข้าใจผิดกฎหมายมาแก้ตัวไม่ได้ พิพากษายืน

Share