คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขนสุราจากร้านค้าสุราไปยังบ้านของ บ. 2 เที่ยว แต่ละเที่ยวมีปริมาณน้ำสุรา 9 ลิตรเศษ แต่เวลาก็ห่างกันชั่วโมงเศษ ดังนี้ การขนแต่ละเที่ยวย่อมขาดตอนกันไปแล้ว หากจะว่าจำเลยมีเจตนาจะขนสุราทั้งหมดนี้ต่อจากบ้าน บ. ไปให้ผู้ซื้อ ณ จุดหมายปลายทางแห่งหนึ่ง ถ้าเป็นแต่เพียงคำกล่าวอ้าง ก็จะถือว่าจำเลยกำลังขนสุราทั้งหมดไปยังจุดหมายปลายทางนั้น ๆ ไม่ได้ จำเลยจึงยังไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขนสุรา ๓๐ ขวด ปริมาณน้ำสุรา ๑๘ ลิตรเศษ จากบริษัทสุราบ้านเลขที่ ๒๒๕ – ๒๒๗ ไปยังบ้านเลขที่ ๑๘๘/๑๔ ถนนศาลาแดงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขนสุรา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๔, ๓๘ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยขนน้ำสุรา ๒ คราว ๆ ละ ๑๕ ขวด (รับกันว่าปริมาณน้ำสุรา ๑๕ ขวดเท่ากับ ๙ ลิตรเศษ) จากบริษัทนครศรีธรรมราชไปฝากไว้ที่บ้านนายเบี้ยวซึ่งอยู่ห่างกัน ๕ เส้นเศษ ระยะเวลาที่ขนห่างกัน ๑ ชั่วโมงเศษ และได้ความว่าจำเลยขนสุราไปฝากไว้ที่ร้านนายเบี้ยวเพื่อจะไปส่งให้ผู้ซื้อที่บ้านสามแก้วทั้ง ๓๐ ขวด แต่ยังเอาไปไม่ได้ การขนสุรายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยอยู่ในระหว่างการขน โดยจำเลยเจตนาขน ๓๐ ขวดเกิน ๑๐ ลิตร มีความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง พิพากษาลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า จำเลยขนจากบริษัทสุรานครศรีธรรมราช เอาไปไว้ที่บ้านนายเบี้ยวซึ่งอยู่ห่างไป ๕ เส้นเศษ โดยขนครั้งแรก ๑๕ ขวด น้ำสุราไม่ถึง ๑๐ ลิตร แล้วต่อมาอีกชั่วโมงเศษจึงไปขนเอามาไว้อีก ๑๕ ขวด ปริมาณน้ำสุราเท่ากับครั้งแรก เห็นได้ว่าการขน ๒ ครั้งนี้ เป็นคนละคราวขาดตอนกันไปแล้ว จะว่าจำเลยมีเจตนาจะขนต่อจากบ้านนายเบี้ยวเพื่อเอาไปให้ผู้ซื้อที่บ้านสามแก้ว ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง ไม่ได้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นอย่างไร จำเลยจึงยังไม่มีความผิดดังฟ้อง
พิพากษายืน

Share