แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลตาม ม.226 (2) นั้น ผู้อุทธรณ์หรือฎีกาจะต้องได้ทำการโต้แย้งคำสั่งศาลให้ปรากฏในสำนวน จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้
การที่คู่ความโต้เถียงคัดค้านกันในเรื่องหน้าที่นำสืบว่าใครต้องสืบก่อนสืบหลังดังปรากฏตามรายงานศาลนั้นเป็นเพียงคำคัดค้านโต้เถียงระหว่างคู่ความซึ่งแถลงต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งหาใช่เป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลตามมาตรา 226 (2) ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ โอนขายที่บ้านและที่นารายนี้ให้แก่โจทก์เป็นราคา ๗๐๐ บาท และให้รับเงินเพิ่มไปจากโจทก์อีก ๖๑๐ บาท ให้จำเลยที่ ๒-๓ เพิกถอนการคัดค้านอย่าเข้ามาเกี่ยวข้องขัดขวางที่บ้านและที่นารายนี้ต่อไป
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าที่บ้านและที่นาไม่ใช่ของจำเลยจำเลยที่ ๒-๓ ให้การว่า ที่บ้านและที่นาแปลงพิพาทเดิมเป็นของพ่อตาจำเลยที่ ๑ ก่อนตายได้สั่งจำเลยที่ ๑ ยกให้ภริยาของจำเลยที่ ๒-๓ จำเลยที่ ๑ ได้มอบที่พิพาทให้ภริยาของจำเลยที่ ๒-๓ ครอบครองถือกรรมสิทธิเป็นเจ้าของมานานแล้ว จำเลยที่ ๑ หาได้เกี่ยวข้องไม่ จำเลยที่ ๑ หามีสิทธิขายได้ไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนชอบแล้วส่วนข้อเท็จจริงพะยานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาแต่เฉพาะในเรื่องหน้าที่นำสืบ
ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องหน้าที่นำสืบ คู่ความได้แสดงต่อศาลปรากฎตามรายงานลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๗ โจทก์ว่าจำเลยต้องนำสืบก่อน ฝ่ายจำเลยว่าโจทก์ต้องนำสืบก่อนศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำสืบก่อน ต่อจากลำดับนั้นมาจนศาลพิพากษาคดี ไม่ปรากฎว่าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งของศาลที่ได้สั่งในเรื่องหน้าที่นำสืบนั้นเล
ยและตามที่โจทก์ฎีกาว่าได้คัดค้านในเรื่องหน้าที่นำสืบไว้แล้วตามรายงานของศาลลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๗ ศาลฎีกาเห็นว่าตามรายงานนั้นเป็นเพียงคำคัดค้านโต้เถียงระหว่างคู่ความซึ่งแถลงต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่ง หาใช่เป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลตามความในมาตรา ๒๒๖ (๒) ไม่ ผู้ที่จะอุทธรณ์คำสั่งชะนิดนี้ชอบที่จะให้ศาลจดข้อ โต้แย้งไว้ในรายงานหรือทำคำโต้แย้งคำสั่งเสมอเข้ามาในสำนวน เพื่อสงวนสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไปภายใน ๑ เดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาหรือชี้ขาดตัดสินฉะนั้นเมื่อตนมีได้กระทำสงวนสิทธิดังกล่าวไว้ให้ปรากฎ จะยกขึ้นโต้แย้งในอุทธรณ์หรือฎีกาในภายหลังหาได้ไม่ จึงพิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย