คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลมีอำนาจตัดหรืองดสืบพยานตามที่เห็นสมควรเพื่อให้คดีดำเนินไปโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่ศาลสอบทนายโจทก์ว่าจะสืบพยานต่อไปในข้อใด และทนายโจทก์แถลงว่ายังแถลงไม่ได้ ขอสงวนไว้ก่อน แม้ทนายอีกฝ่ายแถลงว่าพยานที่จะสืบข้อใด หากรับข้อเท็จจริงได้ก็จะรับเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ทนายโจทก์ก็ยังยืนยันเช่นเดิม ดังนี้ การที่ทนายโจทก์ไม่แถลงให้ศาลทราบเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ศาลจึงชอบจะงดสืบพยานโจทก์ต่อไปได้
คำสั่งให้งดสืบพยานไม่ใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ผู้พิพากษานายเดียวมีอำนาจสั่งได้ตามมาตรา 21 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรม
การที่ศาลอนุญาตให้อ้างพยานเพิ่มเติมโดยมิได้สอบถามคู่ความอีกฝ่ายนั้น แม้จะเป็นการผิดระเบียบวิธีพิจารณาอยู่บ้าง แต่ถ้าไม่เสียความเป็นธรรมแก่คู่ความอีกฝ่ายแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ลงชื่อในใบมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความเพื่อให้ผู้อื่นทำการแทน ถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้บุคคลภายนอกหลงเชื่อ จำต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822, 821
โจทก์ฟ้อง จำเลยต่อสู้ว่าได้ทำนิติกรรมขายฝากโดยมิได้รับอนุญาตจากสามี และสามีได้บอกล้างแล้ว ดังนี้ คดีมีประเด็นที่จะต้องนำสืบว่าสามีจำเลยได้อนุญาตหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายมีสิทธินำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นข้อนี้ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสองนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
คดีแรก โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินโฉนดที่ ๘๑๑๗ และ ๘๐๒ ร่วมกัน จำเลยที่ ๑ ได้หลอกลวงให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในใบมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความเพื่อจะเอาไปจัดการลงชื่อและแบ่งแยกที่ดินนั้นให้นางสาว ศิริ ต่อมาโจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันโดยไม่สุจริต ใช้ใบมอบอำนาจนั้นไปทำนิติกรรมขายฝากกัน จึงขอให้พิพากษาว่า สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ
จำเลยที่ ๑ ให้การรับว่าเป็นจริงตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่าได้รับซื้อฝากที่พิพาทโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ใบมอบอำนาจหากปลอมก็เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ไม่กรอกข้อความ
คดีหลังโจทก์ฟ้องว่าได้รับซื้อฝากที่พิพาทจากจำเลย จำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาท จึงขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงิน สามีจำเลยมิได้อนุญาตให้จำเลยทำสัญญาขายฝาก และสามีจำเลยได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว ขอให้โจทก์รับเงินแล้วโอนที่ดินให้จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์ในคดีแรก และยกฟ้องแย้งของจำเลยในคดีหลัง และพิพากษาให้ขับไล่จำเลยในคดีหลังพร้อมกับให้ใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ในคดีแรกและจำเลยในคดีหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ในคดีแรกและจำเลยในคดีหลังฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า :-
๑. ที่ผู้ฎีกาฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของผู้ฎีกาโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่าการตัดหรืองดสืบพยานเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งตามควรแก่กรณีเป็นเรื่อง ๆ ไป เพื่อให้คดีดำเนินไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้า คดีนี้ เมื่อสืบตัวผู้ฎีกาเสร็จแล้ว ศาลได้สอบถามทนายของผู้ฎีกาว่า พยานที่จะสืบต่อไปจะสืบในข้อใด ทนายของผู้ฎีกาทุกคนแถลงว่า จะแถลงไม่ได้ ขอสงวนไว้ก่อน และเมื่อทนายของอีกฝ่ายแถลงว่าพยานของผู้ฎีกาที่จะสืบข้อใดรับได้ก็จะแถลงรับข้อเท็จจริงเพื่อมิให้การพิจารณาล่าช้า ทนายผู้ฎีกาก็ยังแถลงยืนยันเช่นเดิมอีก ดังนั้น การที่ทนายของผู้ฎีกาไม่แถลงให้ศาลทราบ จึงเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานของผู้ฎีกา จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว
๒. ที่ว่าผู้พิพากษานายเดียวไม่มีอำนาจสั่งตัดพยานนั้น เห็นว่า คำสั่งเช่นนี้ไม่ใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ผู้พิพากษานายเดียวมีอำนาจสั่งได้ตามมาตรา ๒๑ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรม
๓. ที่ว่าศาลไม่มีอำนาจอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ อ้างพยานเพิ่มเติมโดยไม่ได้สอบถามโจทก์ก่อนเป็นการไม่ชอบนั้น ปรากฏว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้คัดค้าน ศาลก็สั่งว่า ถ้าพยานที่จำเลยที่ ๒ อ้างเพิ่มเติมเบิกความข้อใดที่โจทก์ยังไม่ได้ให้การไว้ จะพิจารณาให้โจทก์สืบแก้ได้ แต่เมื่อสืบพยานที่อ้างเพิ่มเติมแล้ว โจทก์ก็มิได้แถลงขอสืบข้อใดอีก ทั้งโจทก์ก็ได้ซักค้านพยานที่อ้างเพิ่มเติมแล้ว ฉะนั้น แม้จะเป็นการผิดระเบียบวิธีพิจารณาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เสียความเป็นธรรมแก่โจทก์ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
๔. การที่ผู้มอบอำนาจได้ลงชื่อในใบมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนตนโดยไม่ได้กรอกข้อความ ถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้บุคคลภายนอกหลงเชื่อ จำต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๘๒๒, ๘๒๑
๕. ที่ฎีกาว่าจำเลยทำนิติกรรมสัญญาขายฝากโดยมิได้รับอนุญาตจากสามี สามีบอกล้างแล้ว และโจทก์ไม่มีประเด็นนำสืบนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์และตามคำให้การของจำเลย จำเลยต่อสู้ว่าทำนิติกรรมสัญญาขายฝากโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามี และสามีได้บอกล้างแล้ว ดังนี้ คดีมีประเด็นที่จะต้องนำสืบกันว่า สามีจำเลยได้อนุญาตให้จำเลยทำนิติกรรมสัญญาขายฝากรายนี้หรือเปล่า ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธินำนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นข้อนี้ได้
จึงพิพากษายืน

Share