แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 5 บังอาจยึดถือครอบครองที่ดินบริเวณหน้าฝายทุ่งหมูบุ้นอันเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน นายอำเภอได้ออกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายให้จำเลยออกไป จำเลยบังอาจขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยไม่รู้ และไม่เข้าใจมาก่อนว่าเป็นที่สาธารณะ การขัดคำสั่งทำด้วยใจสุจริต ขาดเจตนาร้าย ยกฟ้อง จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาต่อมาว่าที่พิพาทมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่จำเลยมีสิทธิครอบครองและมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษากลับ ศาลล่างว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด ดังนี้ คดีอาญาจึงยุติเพียงศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยกล่าวอ้างโต้แย้งว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองมา มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยชอบที่จะไปว่ากล่าวในทางแพ่งต่อไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ให้ยกฎีกาจำเลย (อ้างนัยฎีกาที่ 1223/2495).
ย่อยาว
คดีทั้ง ๕ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแต่ละคดีบังอาจเข้ายึดถือครอบครองทำนาขุดดินและทำคันนาที่ดินในบริเวณหน้าฝายทุ่งหมูบุ้นอันเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน โดยนายโตครอบครองประมาณ ๑๕ ไร่ นายแก้วประมาณ ๑ ไร่ นายแหลงประมาณ ๓ ไร่ นายเหลาประมาณ ๓ ไร่ นายผายประมาณ ๔ ไร่ ที่ดินดังกล่าวอยู่ในความดูแลตรวจตรารักษาของนายจรูญ ธนะสังข์ นายอำเภอพะเยา ได้ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๑๗, ๑๒๒ ห้ามมิให้จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและกำหนดให้จำเลยแต่ละคดีออกไปจากที่ดิน จำเลยทราบคำสั่งแล้วถึงกำหนดบังอาจขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่ง คงขัดขืนครอบครองตลอดมาถึงวันฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๘ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๑๗, ๑๒๒
จำเลยทั้ง ๕ คดีให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่จำเลยไม่รู้และไม่เข้าใจมาก่อนว่าที่นี้เป็นที่สาธารณะ การขัดคำสั่งจึงทำด้วยใจสุจริต ขาดเจตนาร้าย พิพากษายกฟ้อง
จำเลย ๕ คดีอุทธรณ์ว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองและมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย หาใช่ที่สาธารณประโยชน์ไม่ ขอศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย มิใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมาว่าที่พิพาทมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองและมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษากลับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นแห่งคดีทั้ง ๕ อยู่ที่ว่า จำเลยกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอำเภอซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยขัดคำสั่งของนายอำเภอพะเยาด้วยใจสุจริต ขาดเจตนาร้ายอันจะพึงผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๘ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกคดี ฝ่ายโจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีอาญาจึงยุติเพียงศาลชั้นต้น ส่วนข้อวินิจฉัยที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นมูลเหตุแห่งคดีอาญาเท่านั้น เมื่อจำเลยกล่าวอ้างโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง มิใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยชอบที่จะไปว่ากล่าวในทางแพ่งต่อไป ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ นัยฎีกาที่ ๑๒๒๓/๒๔๙๕ ให้ยกฎีกาจำเลยทั้ง ๕