คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินซึ่งอยู่ในเขตต์เวนคืนนั้นทำสัญญาจะซื้อขายต่อกันได้
ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและกำหนดไปโอนในเวลาซึ่งอยู่ในระหว่างกฎหมายห้ามโอนภายหลังแบ่งแยกโฉนดแล้ว ผู้ซื้อก็ขอบังคับให้โอนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑-๒ เป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ ๑ ด้วยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของให้แก่โจทก์ โดยมีข้อสัญญาว่าจะไปโอนที่ต่อเจ้าพนักงานทะเบียนที่ดินในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ จำเลยได้รับเงินมัดจำไว้แล้ว เมื่อทำสัญญากันแล้ว ที่ดินรายนี้ถูกตัดถนนและได้แยกโฉนดที่ถูกตัดถนนเรียบร้อยแล้ว จำเลยสามารถจะโอนขายที่ดินให้โจทก์ได้ แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ทำการโอน จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาขายที่ให้โจทก์จริง แต่ต่อสู้ว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าที่ดินรายนี้จะต้องถูกตัดถนน จำเลยไม่มีสิทธิเอาที่ดินของจำเลยไปทำสัญญาขายให้โจทก์ เพราะเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติทางหลวง สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะ เงินมัดจำจำเลยได้คืนให้โจทก์ไปแล้ว และว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาด้วย
ชั้นพิจารณาโจทก์แถลงว่าที่ดินของจำเลยส่วนที่ถูกตัดถนนได้โอนให้รัฐบาลและได้แก้โฉนดแล้ว ฝ่ายจำเลยรับว่าอยู่ในฐานะที่จะขายได้ แต่ไม่ขายเพราะสัญญาเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติทางหลวงบังคับให้จำเลยไปทำสัญญาโอนขายที่ดินให้โจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญาจะซื้อขายไม่เป็นโมฆะ แต่ตามข้อสัญญาได้มีกำหนดเวลาให้ไปโอนกรรมสิทธิกันภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ อันเป็นเวลาที่พระราชกฤษฎีกาหวงห้ามยังใช้อยู่เมื่อกำหนดเวลาโอนไม่ได้โดยต้องห้ามตามกฎหมาย นิติกรรมนั้นก็สิ้นผลใช้บังคับไม่ได้ตาม ป.แพ่งมาตรา ๑๕๓ ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาและพฤติการณ์ที่ปรากฎในสำนวนเห็นได้ว่ากำหนดเวลาที่คู่สัญญาตกลงให้ไปทำสัญญาโอนที่ดินนั้นไม่ใช่สาระสำคัญของนิติกรรม เพราะไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนาจะไม่ซื้อไม่ขายถ้าไม่ได้โอนกันภายในกำหดคู่สัญญามีเจตนาเพียงถือเอากำหนดเวลาโอนเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้เท่านั้น ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลแพ่งฯ มาตรา ๒๐๕ เมื่อจำเลยยังอยู่ในฐานะที่จะโอนที่ดินให้โจทก์ได้จะอ้างว่าการชำระหนี้ของโจทก์เป็นพ้นวิสัย เพื่อให้คนหลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่ได้และที่ดินอันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติทางหลวง จำเลยเป็นเพียงทำสัญญาจะซื้อขายเท่านั้น พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ชนะคดี

Share