แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดเขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการกรม ตำรวจลงวันที่ 14 สิงหาคม 2493 กำหนดให้กองบังคับการกองตรวจมีเขตอำนาจรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.ม.วิ.อาญาตลอดเขตพื้นที่จังหวัดพระนครและธนบุรีนั้น มิใช่เป็นกฎหมายอันจะถือได้ว่า ทุกคนจำต้องทราบอย่าง กฎหมาย แต่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบให้ทราบ เมื่อจำเลยคัดค้านว่านายตำรวจผู้สอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน จึงเป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบแสดงว่า นายตำรวจผู้สอบสวนมีอำนาจสอบสวน เมื่อไม่นำสืบก็ยังฟังไม่ได้ว่า ได้มี การสอบสวนโดยชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว จึงต้องบทห้ามมิให้อัยการฟ้องคดีตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา 120.
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๘๘, ๒๙๓ และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. กักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. ๒๔๗๙
จำเลยปฏิเสธ และให้การว่านายร้อยตำรวจโทวินิจ รอดคลองตัน กองตรวจตำรวจนครบาลไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก ๓ ปี เพิ่มโทษตามมาตรา ๗๔ เป็นจำคุก ๖ ปี และให้ส่งไปกักกัน อีก ๓ ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระทำผิด และผู้สอบสวนคดีนี้ไม่มีอำนาจสอบสวน
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีนี้จำเลยได้ให้การคัดค้านมาแต่แรกว่า ร.ต.ท.วินิจกองตรวจตำรวจนครบาลไม่มีอำนาจสอบ สวนคดีนี้ โจทก์ได้อ้าง ร.ต.ท.วินิจมาสืบว่าเป็นผู้สอบสวนคดีนี้จริง แต่หาได้มีฝ่ายใดซักถามให้ปรากฏไม่ว่า ร.ต.ท. วินิจ ผู้มีตำแหน่งเป็นรองสารวัตร กองตรวจตำรวจนครบาลมีอำนาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่อย่างไร กล่าวคือเหตุเรื่องนี้เกิดขึ้น ในท้องที่ของตำรวจจักรวรรดิ์ ร.ต.ท.วินิจรองสารวัตรกองตรวจจะมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ ศาลนี้เห็นว่ากองตรวจจะมี อำนาจสอบสวนหรือไม่ ศาลนี้เห็นว่าประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัย มิใช่เป็นกฎหมาย อันจะถือได้ว่าทุกคนจำต้องทราบอย่างกฎหมาย แต่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบให้ทราบ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่
๗๔๙/๒๔๙๑, ๙๒๑,๙๒๓/๒๔๙๑ และที่ ๑๘๒๗/๒๔๙๒ เมื่อจำเลยคัดค้านว่า ร.ต.ท.วินิจฉัยผู้สอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลย จึงเป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบแสดงว่า ร.ต.ท.วินิจมีอำนาจสอบสวน เมื่อไม่นำสืบก็ยังฟังไม่ได้ว่า ได้มีการสอบสวนโดย ชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว ต้องบทห้ามมิให้อัยการฟ้องตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๒๐ จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง