คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1079/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฎีกาจำเลย จำเลยเถียงว่ามีเจตนาหรือไม่และโจทก์สืบไม่สมฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาแล้วว่า จำเลยได้ออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และโจทก์ก็ได้นำเช็คนั้นไปขึ้นเงินจากธนาคารและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินฝากของจำเลยมีไม่พอจ่าย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 เป็นเรื่องผู้ทรงเสียสิทธิอันมีต่อสู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่าย เพราะการที่ละเลยเสียไม่ไปยื่นเช็คนั้น แต่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยออกเช็ครายพิพาทโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และเช็คนั้นขึ้นเงินไม่ได้ เพราะเงินฝากจำเลยไม่มีพอจ่าย จำเลยก็ต้องมีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป ๑๐,๐๐๐ บาท กำหนดชำระภายในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๖ จำเลยได้ออกเข็คของธนาคารกรุงเทพ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๖ ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ครั้นสัญญากู้พ้นกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๐๖ ธนาคารแจ้งว่าเงินฝากไม่พอจ่าย โจทก์เห็นว่าจำเลยบังอาจออกเช็คให้โจทก์โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก ๓ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาหลายข้อ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อ ข.ค.และ ง. ซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนข้อ ก. เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาจำเลยข้อ ข. อ้างว่า โจทก์จำเลยรู้เจตนากันดีว่าในขณะทำสัญญาและออกเช็คประกันเงินกู้นั้น จำเลยไม่มีเจตนาจะให้ผูกพันและต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ ฎีกาข้อ ง. อ้างว่า ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินภายในกำหนดของกฎหมาย และธนาคารในเมืองนั้นได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จึงต้องถือว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาที่เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสองข้อ คือ ฎีกาข้อ ข. เถียงว่ามีเจตนาหรือไม่ ส่วนฎีกาข้อ ง. เถียงว่า โจทก์สืบไม่สมฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และโจทก์ก็ได้นำเช็คนั้นไปขึ้นเงินจากธนาคารและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินฝากของจำเลยมีไม่พอจ่าย ฎีกาจำเลยข้อ ข.ง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘ จึงไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาข้อ ค. จำเลยเถียงว่า โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินเมื่อพ้นระยะเวลา ๑ เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๐ จึงเอาผิดกับจำเลยไม่ได้ ฎีกาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทกฎหมายที่จำเลยอ้างนั้น เป็นเรื่องผู้ทรงเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่าย เพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ มาตรา ๓ เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยออกเช็ครายพิพาทโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและเช็คนั้นขึ้นเงินไม่ได้ เพราะเงินฝากของจำเลยไม่มีพอจ่าย ดังนี้ จำเลยก็ต้องมีความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน

Share