คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานยักยอกในหน้าที่ด้วยเจตนาทุจริต แต่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญา ม.319 แต่บทเดียวไม่ได้ขอให้ลงโทษตาม ม.131 ด้วยเมื่อความผิดของจำเลยเป็นความผิดตาม ม.131 ก็ต้องฟ้องยังศาลทหารฟ้องยังศาลพลเรือนไม่ได้ เพราะประกาศกองบัญชาทหารสูงสุด ฯลฯ ใช้คำว่า “ความผิดตาม ม.129 ถึง 146 ให้ฟ้องยังศาลทหาร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอเมืองชัยนาทมีหน้าที่เก็บรักษาและจำหน่ายแสตมป์ของอำเภอ จำเลยได้ยักยอกเอาทรัพย์ที่ตนมีหน้าที่ปกครองรักษาไป ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๓๑๙
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๑๓+ ซึ่งมีประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุดลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีในความผิดฐานนี้ ศาลพลเรือนจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๓๑๙ แต่บทเดียว ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามตาม ม.๑๓๑ ก็ดี พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้โจทก์จะได้กล่าวมาในฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานได้ยักยอกทรัพย์ในหน้าที่ด้วยเจตนาทุจริต และทางพิจารณาก็ได้ความสมจริงตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๑๓๑ ก็ไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด พิพากษาลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๓๑๙ (๓) และ๓๑๔
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศกองบัญชาทหารทหารสูงสุด ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) ให้ใช้บังคับแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๘๕ มีความว่า “ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางอาญา คือความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาตั้งแต่ ม.๑๒๙ ถึง ๑๔๖” ประกาศใช้คำว่า” ประกาศใช้คำว่า “ความผิดตามมาตราฯลฯ” เมื่อความผิดของจำเลยเป็นความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๑๓๑ ก็เป็นความผิดซึ่งต้องฟ้องยังศาลทหาร จะฟ้องยังศาลพลเรือนไม่ได้ แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ม.๓๑๔ ไม่ใช่ ม.๑๓๑ ก็ตาม หากจะแปลอย่างศาลอุทธรณ์ก็หมายความว่า การฟ้องศาลให้ตกอยู่ในอำนาจของโจทก์แล้วแต่จะเลือก ซึ่งไม่ตรงกับถ้อยคำและความมุ่งหมายของประกาศนั้น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

Share