คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 180/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยได้รับการสลักหลังมาจากผู้ทรงคนอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเช็คไว้โดยไม่สุจริต การที่จำเลยขออายัดเช็คนั้นต่อธนาคาร ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดในฐานะเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989 ประกอบกับมาตรา 914
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้สั่งเช็คจ่ายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2505 แต่ในวันสืบพยานปรากฏว่าโจทก์ได้เช็คนี้มาเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2505 โดยการสลักหลังจากผู้ทรงอีกคนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยเป็นผู้สั่งเช็ค แล้วต่อมาโจทก์ได้เป็นผู้ทรงเช็คนั้น ก็เป็นอันถือได้ว่าจำเลยมีความผูกพันต่อโจทก์ตามเช็คนั้น แม้การที่โจทก์ได้เช็คไว้ ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจะแตกต่างไปจากคำฟ้องบ้าง ก็ไม่ถึงกับทำให้คดีโจทก์เสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ตามเช็คซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรง
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องและคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ออกเช็ค ๒ ใบ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ สั่งจ่ายให้แก่สิบตำรวจโททมเพื่อชำระราคาไม้ ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ สิบตำรวจโททมได้สลักหลังเช็คใบหนึ่งชำระค่าของที่ซื้อมาจากพี่ชายโจทก์ ต่อมาพี่โจทก์ได้สลักหลังเช็คใบนั้นให้แก่โจทก์ โดยรับเอาเงินสดจากโจทก์ไป เมื่อถึงกำหนดวันที่ลงในเช็ค คือวันที่ ๓๐ กรกฏาคม ๒๕๐๕ โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารแจ้งว่าเงินในบัญชีจำเลยไม่มีพอจ่าย ต่อมาวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๐๕ โจทก์ได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารอีก ทางธนาคารคืนโดยหมายเหตุว่าให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่าย แต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๐๕ จำเลยได้มีหนังสือถึงธนาคารขออายัดเช็คทั้งสองฉบับไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเช็คไว้โดยไม่สุจริตแต่อย่างใด การที่จำเลยขออายัดเช็คต่อธนาคาร ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดในฐานะเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๙๑๔ หากสิบตำรวจโททมผู้ทรงเช็คคนแรกจะต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายไม้ ก็เป็นกรณีระหว่างจำเลยกับสิบตำรวจโททมที่จะว่ากล่าวกัน ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบต้องพลอยเสื่อมเสียไป
ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง กล่าวคือฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ผู้ถือเช็คแต่ในชั้นสืบพยานปรากฏว่าโจทก์ได้เช็คนี้มาเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ โดยพี่ชายโจทก์สลักหลังให้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค แล้วต่อมาโจทก์ได้เป็นผู้ทรงเช็คนั้น ก็เป็นอันถือได้ว่าจำเลยมีความผูกพันต่อโจทก์ตามเช็คนั้น แม้การที่โจทก์ได้เช็คไว้ ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจะแตกต่างไปจากคำฟ้องบ้าง ก็ไม่ถึงกับทำให้คดีโจทก์เสียไป

Share