คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 นั้น เมื่อกรณีเป็นการฉ้อโกงเอาหนังสือสัญญากู้ไปทรัพย์สินที่ผู้เสียหารศูนย์เสียไปก็คือหนังสือกู้ พนักงานอัยการคงเรียกคืนได้แต่ตัวหนังสือสัญญาเท่านั้น จะขอมาด้วยว่า ถ้าหากจำเลยส่งสัญญาไม่ได้ ให้ใช้เงินอันเป็นหนี้ตามสัญญาแทนนั้น หาได้ไม่ เพราะไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายได้ศูนย์เสียทรัพย์สินที่มีราคาตามหนี้ในสัญญากู้ แม้หนังสือสัญญากู้ศูนย์หายไปก็ยังฟ้องร้องเรียกหนี้กันได้ มิใช่ว่าหนี้นั้นจะพลอยศูนย์ไปด้วย หนี้ตามสัญญากู้มีอย่างไร ผู้เสียหายชอบที่จะฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก
เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผลเป็นการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนอาญาที่ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้ คงพิพากษาแก้แต่เพียงว่า โจทก์จะขอเข้ามาในคดีนี้ว่า ถ้าจำเลยคืนสัญญากู้ไม่ได้ ใช้จำเลยใช้เงินแทนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องดำเนินเป็นคดีแพ่งขึ้นใหม่อีกสำนวนหนึ่ง เช่นนี้ จำเลยจะฎีกาข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้เงินหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 เพราะศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินผู้เสียหาย ฯลฯ เอาโฉนดที่ดิน 5 โฉนด มอบให้ผู้เสียหายยึดถือไว้เป็นประกัน ฯลฯ ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2489 จำเลยหลอกลวงผู้เสียว่าจะโอนโฉนดให้ผู้เสียหาย ฯลฯ แล้วเพทุบายขอรับโฉนดไปจากผู้เสียหายว่าจะเอาไปทำการโอนให้ตามข้อตกลง แต่จำเลยโอนให้เพียง 2 โฉนด ฯลฯ กับต่อมาวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2498 จำเลยหลอกลวงผู้เสียว่า จำเลยได้โอนโฉนดให้เรียบร้อยแล้ว รอแต่วันรับโฉนดเท่านั้น ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องยึดหนังสือสัญญากู้ไว้ ผู้เสียหายหลงเชื่อ ได้มอบหนังสือสัญญากู้ให้จำเลยไป ทั้งนี้ ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้ส่งโฉนดและรับไปแล้วได้ฉ้อโกงเอาไว้ และมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งหนังสือสัญญากู้ ฯลฯ ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะฟังว่า โฉนดที่โจทก์หาว่าจำเลยฉ้อโกงนั้นไม่ได้อยู่กับผู้เสียหาย ก็ยังอาจฟังว่าจำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยได้ขอให้จำเลยไป เพราะเป็นคนละเหตุ ทั้งข้อหาว่าจำเลยฉ้อโกงโฉนดและข้อหาฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้ ต่างกรรมต่างวาระกัน แยกกันได้เป็น 2 กระทง (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 27/2507)
(หมายเหตุ :- (1) จำเลยขอให้รับรองฎีกาข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสั่งว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามจึงไม่รับรองให้ และสั่งรับฎีกาจำเลย แต่ศาลฎีกาเห็นว่า เฉพาะฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้าม จึงไม่วินิจฉัยให้
(2) ที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นผิดฐานปลอมหนังสือไว้ด้วย แต่ปรากฏว่าฎีกาจำเลยข้อนี้เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้าม จึงไม่ปรากฏข้อวินิจฉัย ตามมติดังกล่าวในคำพิพากษา)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินนางเพ็ญผู้เสียหายหลายคราวมอบโฉนดที่ดินให้ยึดถือไว้เป็นประกัน จนครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๘ คิดเป็นเงิน ๑๖๔,๐๐๐ บาท จำเลยมอบโฉนดที่ ๕๖๙๖, ๕๖๔๔, ๕๖๔๙, ๖๙๒๓ และ ๙๗๘๐ ให้นางเพ็ญไว้ ต่อมาจำเลยได้หลอกลวงนางเพ็ญว่าจะโอนโฉนดทั้ง ๕ ดังกล่าวให้ แล้วเพทุบายขอรับโฉนดทั้ง ๕ ไป แต่จำเลยได้โอนให้เพียง ๒ โฉนด คือ โฉนดที่ ๕๖๙๖ และ ๙๘๗๐ ส่วนอีก ๓ โฉนดนัดไปวันหลัง และจำเลยได้หลอกลวงนางเพ็ญว่า จำเลยได้โอนโฉนดให้เรียบร้อยแล้ว รอแต่วันรับโฉนดเท่านั้น นางเพ็ญไม่จำเป็นต้องยึดหนังสือสัญญากู้จำนวน ๑๖๔,๐๐๐ บาทไว้ นางเพ็ญหลงเชื่อ ได้มอบหนังสือสัญญากู้ให้จำเลยไป ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงให้นางเพ็ญส่งโฉนด ๓ ฉบับนั้นให้จำเลยไปรับแล้วจำเลยฉ้อโกงเอาไว้ และมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงให้นางเพ็ญส่งหนังสือสัญญากู้ดังกล่าว ซึ่งเมื่อคิดหักราคาที่ดิน ๒ โฉนดที่ได้รับโอนแล้ว คงเหลือเงินตามสัญญากู้ ๑๑๐,๘๙๙ บาท
นอกจากนี้ เมื่อจำเลยด้มาขอรับโฉนดเลขที่ ๕๖๙๖ และหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกเป็นคลองไปแล้ว จำเลยบังอาจปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวทั้ง ๒ ฉบับ โดยเติมข้อความว่า “และโอนขาย” ลงไป แล้วใช้ให้นายแอ๊ดนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานหอทะเบียนที่ดิน ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๒๒, ๒๒๓, ๓๐๔ ให้จำเลยคืนโฉนด ๓ โฉนด และสัญญากู้เงิน ถ้าส่งสัญญากู้ไม่ได้ให้ใช้เงิน ๑๑๐,๘๙๙ บาทแก่นางเพ็ญ
จำเลยให้การปฏิเสธและว่าฟ้องเคลือบคลุม
ศาลอาญา (โดยศาลแขวงพระนครเหนือส่งสำนวนให้พิพากษา) ฟังว่า จำเลยเป็นลูกหนี้นางเพ็ญตามสัญญา ได้หลอกลวงเอาโฉนด ๓ โฉนดไป และหลอกลวงให้นางเพ็ญคืนสัญญากู้จริง และยังได้ปลอมใบมอบฉันทะ ๒ ฉบับ โดยตกเดิมข้อความดังโจทก์หา พิพากษาว่าจำเลยผิดฐานปลอมหนังสือและฉ้อโกงตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๒๒, ๒๒๓ และ ๓๐๔ รวม ๒ กระทง ลงโทษกระทงหนักฐานปลอมหนังสือ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ให้จำเลยคืนโฉนด ๕๖๔๔, ๕๖๔๙ และ ๖๙๒๓ และสัญญากู้เงิน ๑ ฉบับ ราคา ๑๖๔,๑๐๐ บาท ถ้าส่งไม่ได้ให้ใช้เงิน ๑๑๐,๘๙๙ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยเป็นหนี้นางเพ็ญ ๑๖๔,๑๐๐ บาท และจำเลยได้ฉ้อโกงเอาสัญญากู้ไป ส่วนโฉนดปรากฎว่าอยู่ที่หอทะเบียน จะฟังว่างนางเพ็ญได้มอบให้จำเลยไปหรือจำเลยฉ้อโกงโฉนดไม่ได้ พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยคืนสัญญากู้เงินฉบับต้นเงิน ๑๖๔,๑๐๐ บาท ส่วนนางเพ็ญจะมีสิทธิเรียกหนี้สินได้เท่าใด ให้นางเพ็ญฟ้องเป็นคดีแพ่งขึ้นมาใหม่ จำเลยไม่ต้องคืนโฉนดทั้ง ๓ นอกนั้นยืน
อัยการโจทก์กับนางเพ็ญโจทก์ร่วมและจำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาคดีแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๓ นั้น ได้วินิจฉัยโโยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า เมื่อกรณีเป็นการฉ้อโกงเอาหนังสือสัญญากู้ไป ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายศูนย์เสียไปก็คือ หนังสือสัญญากู้ พนักงานอัยการคงเรียกคืนได้แต่ตัวหนังสือสัญญานั้นเท่านั้น จะขอมาด้วยว่า ถ้าหากจำเลยส่งสัญญาไม่ได้ ให้ใช้เงินอันเป็นหนี้ตาม สัญญาแทนนั้นหาได้ไม่ แม้หนังสือสัญญากู้ศูนย์หายไป ก็ยังฟ้องร้องเรียกหนี้กันได้ มิใช่ว่าหนี้นั้นจะพลอยศูนย์ไปด้วย หนี้ตามสัญญากู้มีอย่างไร ผู้เสียหายชอบที่จะฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาย จึงไม่มีทางบังคับให้ตามที่โจทก์ขอ
ในประเด็นเรื่องฉ้อโกงโฉนดตามฎีกาโจทก์นั้น คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้หลอกลองฉ้อโกงโฉนดเลขที่ ๕๖๔๔, ๕๖๔๙ และ ๖๙๒๓
ตามฎีกาจำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นเรื่องฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผลเป็นการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้ เพราะศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขเกี่ยวกับโทษหรือความผิดของจำเลยในเรื่องนี้ประการใด คงพิพากษาแก้แต่เพียงว่า โจทก์จะขอเข้ามาในคดีนี้ว่า ถ้าจำเลยคืนสัญญากู้ไม่ได้ ในจำเลยใช้เงินแทนนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่นางเพ็ญจะต้องดำเนินเป็นคดีแพ่งขึ้นใหม่อีกสำนวนหนึ่ง ฉะนั้นจำเลยจะฎีกาข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้เงินหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ เพราะศาลอุทธรณ์พิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๕ ปี
สำหรับปัญหาที่จำเลยอ้างว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวนนั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องโจทก์มีประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา และศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว นอกจากนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโฉนดที่โจทก์หาว่าจำเลยฉ้อโกงไม่ได้อยู่ที่นางเพ็ญ ก็ยังอาจฟังได้ว่า จำเลยหลอกลวงให้นางเพ็ญหลงเชื่อว่าจำเลยได้ขอให้จดทะเบียน ฯ ทำการโอนโฉนดเหล่านั้นให้นางเพ็ญแล้ว นางเพ็ญจึงคืนสัญญากู้ให้จำเลยไป เพราะเป็นคนละเหตุ ทั้งข้อหาว่าจำเลยฉ้อโกงโฉนดและข้อหาฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้ ก็เป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระกัน แยกได้ ๒ กระทง ไม่มีเหตุจะอ้างว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน
เหตุอื่นที่จำเลยยกขึ้นฎีกาในประเด็นฉ้อโกงสัญญากู้ ก็เป็นการคัดค้านคำพิพากกษาศาลอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จำเลยฎีกามิได้
ในความผิดฐานปลอมหนังสือมอบฉันทะ จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์แตกต่างกัน ควรฟังตามที่จำเลยนำสืบ มิฉะนั้น ก็ควรฟังตามคำพยานโจทก์ซึ่งจะเห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องยักยอกลายมือ จะลงโทษฐานปลอมหนังสือไม่ได้ ดังนี้ เป็นการเถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาเช่นเดียวกัน พิพากษายืน

Share