แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานสอบสวนฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยรับสารภาพฐานรับของโจร ศาลแขวงสั่งว่าคดีมีมูลฐานรับของโจร และรับประทับฟ้อง โจทก์เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน เกี่ยวพันกันและต่อเนื่องกัน จึงฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์ต่อศาลอาญา ย่อมทำได้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 16
ในกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่งนั้น เมื่อศาลแขวงไต่สวนมูลฟ้องแล้วควรสั่งว่าคดีมีมูลหรือไม่มีมูลเท่านั้น ควรให้ศาลซึ่งจะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2502)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๓๕ ศาลแขวงไต่สวนมูลฟ้องและสั่งว่า คดีมีมูลฐานรับของโจรและประทับฟ้อง โจทก์เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน เกี่ยวพันกัน จึงฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์
ศาลอาญาสอบโจทก์ ๆ แถลงว่า ชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนฟ้องหาว่า จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยรับสารภาพฐานรับของโจร ศาลแขวงจึงสั่งมีมูลและประทับฟ้องฐานรับของโจร ส่วนฐานลักทรัพย์มิได้สั่งอย่างไร ศาลอาญามีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า โจทก์อาศัย มาตรา ๑๖ แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ฟ้องจำเลยในข้อหาฐานลักทรัพย์ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันหรือต่อเนื่องกับข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันหรือต่อเนื่องกับข้อเท็จจริงที่ศาลแขวงสั่งมีมูลฐานรับของโจร
ในกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่งนั้น ชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลควรสั่งว่า คดีมีมูลหรือไม่มีมูลเท่านั้น ไม่ควรสั่งว่ามีมูลฐานใดฐานหนึ่ง เพราะเป็นคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น ไม่จำต้องชี้ขาดว่ามีมูลในความผิดใด ควรให้ศาลซึ่งจะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป
พิพากษากลับ ให้ศาลอาญาประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป