คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1200/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยบังอาจลักเอาธนบัตรของชายผู้มีชื่อไปโดยเจตนาทุจริต โดยจำเลยล้วงกระเป๋าชายผู้มีชื่อเพื่อลักทรัพย์” ดังนี้ เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะเห็นได้ว่ายังไม่มีความหมายแน่นอนพอที่จะเข้าใจได้ว่าชายผู้มีชื่อนั้นหมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ แม้โจทก์ไม่สามารถทราบชื่อก็น่าจะกล่าวบรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับชายผู้นั้นให้พอที่จะทำให้ฟ้องของโจทก์มีความแน่นอนขึ้น ไม่เกิดความสับสนหลงผิดแก่จำเลยได้
ในคดีที่จำเลยเป็นเด็กนั้น แม้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 44 จะให้ศาลพยายามกระทำโดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาโดยเคร่งครัดก็ตาม แต่แท้ที่จริงมาตรานี้ก็เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองประโยชน์แก่เด็ก มีความมุ่งหมายที่จะให้เด็กเข้าใจการพิจารณาของศาลเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากที่มีความบัญญัติไว้ด้วยว่า “ให้ใช้ภาษาง่าย ๆ ให้จำเลยเข้าใจ” โจทก์จึงชอบที่จะบรรยายฟ้องให้ละเอียดเพื่อช่วยให้จำเลยซึ่งเป็นเด็กเข้าใจข้อหาโดยชัดแจ้งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจร่วมกันลักเอาธนบัตรของชายผู้มีชื่อไปโดยเจตนาทุจริต โดยจำเลยล้วงกระเป๋าผู้มีชื่อเพื่อลักทรัพย์ จำเลยกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล โดยยังไม่ทันได้เงินก็ถูกจับกุมเสียก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕
ในวันพิจารณา ศาลสอบโจทก์ ๆ ยืนยันว่าฟ้องโจทก์สมบูรณ์ และว่าชั้นสอบสวนก็ไม่ได้ตัวเจ้าทรัพย์มาสอบสวน
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนเห็นว่า เท่าที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นยังไม่มีความหมายแน่นอนพอที่จะเข้าใจได้ว่าชายผู้มีชื่อนั้นหมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ แม้โจทก์ไม่สามารถทราบชื่อ ก็น่าจะกล่าวบรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับชายผู้นั้นให้พอที่จะทำให้ฟ้องของโจทก์มีความแน่นอนขึ้น ไม่เกิดความสับสนหลงผิดแก่จำเลย ตามที่โจทก์ยกเหตุผลมาในฎีกาว่า การพิจารณาคดีเด็กเช่นนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๔๔ ได้ให้ศาลพยายามพระทำโดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาโดยเคร่งครัด จึงไม่ควรครัดเคร่งในเรื่องฟ้องของโจทก์นั้น แท้ที่จริงมาตรา ๔๔ ก็เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองและประโยชน์แก่จำเลย มีความมุ่งหมายที่จะทำให้จำเลยซึ่งเป็นเด็กเข้าใจการพิจารณาของศาลเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากที่มีความบัญญัติไว้ด้วยว่า “ให้ใช้ภาษาง่าย ๆ ให้จำเลยเข้าใจ” โจทก์ก็ชอบที่จะบรรยายฟ้องให้ละเอียด เพื่อช่วยให้จำเลยเข้าใจข้อหาโดยชัดแจ้งด้วย
พิพากษายืน

Share