แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 บัญญัติไว้ชัดว่า ในกรณีที่การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ก็ดี ให้คำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุด
ฉะนั้นในคดีที่จำเลยขาดนัดพิจารณา และศาลชั้นต้นไต่สวนสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ เพราะเห็นว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานั้น จึงเป็นคำสั่งที่ถึงที่สุด โจทก์จะฎีกาอีกหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและทำการสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนแล้ว สั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์สั่งว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบ มาตรา ๒๒๖ (๑) ให้ยกคำร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๖ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คดี หรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ก็ดี ให้คำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุด กล่าวคือจะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้นไม่ได้ ฉะนั้นคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ที่สั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งถึงที่สุดตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๖ โจทก์จึงฎีกาคัดค้านศาลอุทธรณ์นั้นไม่ได้
จึงพิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์