คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์รับส่งบรรทุกของและคนโดยสารในนามของบริษัทจำเลยที่ 3 เพื่อการค้ากำไรร่วมกันนั้น เป็นคำฟ้องที่ไม่มีทางให้เข้าใจว่าจำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ได้เลย แม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามที่คู่ความนำสืบจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ก็ตาม ก็เป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็น จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์สาธารณรับจ้างของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้าง และจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์รับส่งบรรทุกของและคนโดยสารในนามของบริษัทยานยนต์นครปฐมขนส่ง จำกัด จำเลยเพื่อการค้าหากำไรร่วมกัน เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๑ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ในนามของบริษัทจำเลยที่ ๓ ตามทางที่จ้างของจำเลยที่ ๒ -๓ ด้วยความเร็วและปราศจากความระมัดระวัง ชนกับรถของนายสมบูรณ์ กลิ่นหอม เป็นเหตุให้โจทก์ตกลงจากหลังคารถกระแทกกับพื้นดินบาดเจ็บสาหัส จึงขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ – ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ และจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด อย่างไรก็ดี จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ไม่ประมาท โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเกินควร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ส่วนสำนวนหลัง โจทก์บรรยายฟ้องทำนองเดียวกับสำนวนแรก ขอให้จำเลยรับผิด
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒-๓ ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๓ ในสำนวนแรก
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และฟังว่าเหตุที่รถยนต์ชนกันเป็นความผิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ่จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดร่วม พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองสำนวน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุธรณ์เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่าจำเลยที่ ๓ มีฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดฐานะละเมิดที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา ขอให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำละเมิด ขอให้จำเลยที่ ๒-๓ ร่วมรับผิดด้วยในฐานะนายจ้างจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ แต่ตามฟ้องโจทก์กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ ขับรถรับส่งบรรทุกของและคน.โดยสารในนามของบริษัทจำเลยที่ ๓ เพื่อกาค้ากำไรร่วมกัน ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ไม่มีทางที่จะให้เข้าใจว่า จำเลยที่ ๓ มีฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้เลย จำเลยที่ ๓ จึงหาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ไม่ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ เป็นการนอกฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์เห็นว่า การวินิจฉัยคดีนอกฟ้องควรเป็นเรื่องนอกประเด็นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่ในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบได้ความชัดว่า จำเลยที่ ๓ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และกิจการที่จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติ คือ การขับรถรับคนโดยสารอันถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จำเลยที่ ๓ จ้าง จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง
บัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” ดังนี้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุกล่าวมาว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ แล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามที่คู่ความนำสืบว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องหรือนอกประเด็น จะรับฟังมาเป็นข้อวินิจฉัยคดีหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share