คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงคลัง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2486 ม.18 กำหนดวิธีและข้อห้ามไว้สำหรับผู้ได้รับอนุญาตจำหน่ายยาสูบในเขตต์จำหน่ายยาสูบ ส่วน ม.19 ใช้สำหรับผู้จำหน่ายยาสูบทั้งในและนอกเขตต์จำหน่ายยาสูบ
ผู้จำหน่ายยาสูบตาม ม.19 หมายถึงผู้ทำการจำหน่ายยาสูบให้แก่ผู้บริโภคโดยทั่ว ๆ ไป ถ้าฟ้องของโจทก์ระบุเพียงว่าจำเลยจำหน่ายยาสูบเกินราคา ย่อมไม่เพียงพอจะลงโทษจำเลยได้
ในเรื่องความผิดฐานจำหน่ายยาสูบในเขตต์จำหน่ายยาสูบโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ถ้าโจทก์อ้างประกาศกำหนดเขตต์จำหน่ายยาสูบผิดไป แต่จำเลยรับสารภาพแล้วก็ลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายบุหรี่ในเขตต์จำหน่ายยาสูบโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่ให้ยกข้อหาฐานจำหน่ายบุหรี่เกินราคาที่อธิบดีกรมสรรพาสามิตต์กำหนด ศาลชั้นต้นให้ริบบุหรี่แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ริบ
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฟ้องของโจทก์เข้าใจไม่ได้ว่าจำเลยจำหน่ายยาสูบไปกี่ครั้ง แต่ตามรูปเรื่องและตามหลักจะต้องสันนิษฐานให้เป็นผลดีแก่จำเลยจึงพึงถือว่าจำเลยจำหน่ายยาสูบไป ๑ ซองโดยไม่มีใบอนุญาตอย่าง ๑ และโดยราคา ๑ บาทเกินกว่าราคาที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดอีกอย่าง ๑ ซึ่งเป็นกรรมเดียวกัน ถ้าหากมีกฎหมายห้ามไว้ดังโจทก์อ้างจำเลยก็มีผิดเป็น ๒ บท เรื่องจำหน่ายยาสูบโดยไม่มีใบอนุญาต โจทก์อ้างประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นการอ้างผิดที่ถูกเป็นประกาศกระทราวงการคลังลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ก็ดีแต่อย่างไรก็ดีการกระทำของจำเลยอยู่ในเขตต์จำหน่ายยาสูบหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยรับสารภาพแล้วคดีจึงไม่มีปัญหาที่จะลงโทษจำเลยไม่ได้
สำหรับฐานจำหน่ายยาสูบเกินราคาตาม ม.๑๙ นั้นตามรูปการควบคุมตามพ.ร.บ.นี้ เห็นได้ว่าแบ่งพื้นที่ควบคุมเป็น ๒ ชนิด คือภายในเขตต์อย่าง ๑ และภายนอกเขตต์จำหน่ายยาสูบอีกอย่าง ม.๑๘ กำหนดวิธีและข้อห้ามไว้สำหรับผู้ได้รับอนุญาตจำหน่ายยาสูบในเขตต์จำหน่ายยาสูบ ส่วน ม.๑๙ มิได้กล่าวถึงเขตต์พื้นที่ จึงหมายถึงเขตต์ทั้งสองชนิด และ ม.๑๔ ไม่ได้ใช้คำว่าผู้ใดดังเช่น ม.๑๗ แต่ใช้คำว่าผู้ทำการจำหน่ายยาสูบ ฉะนั้นใน ม.๑๙ จึงหมายความว่า ผู้ทำกิจการขายยาสูบให้แก่ผู้บริโภคโดยทั่ว ๆ ไป แต่ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยทำการจำหน่ายยาสูบ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ จึงพิพากษายืน

Share