แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าหน้าที่สรรพากรได้มีคำสั่งบังคับให้โจทก์เสียภาษีโภคภัณฑ์และเงินเพิ่มจนถึงกับจะยึดทรัพย์ของโจทก์เพื่อเอาชำระค่าภาษีนั้น นับว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องศาลได้
ประมวลรัษฎากรมาตรา 190 เป็นบทความผิดสำหรับผู้ค้าโภคภัณฑ์ที่มีโภคภัณฑ์หรือเกินบัญชี ภ.ภ. 11 คือ ลงบัญชีไว้ไม่ครบถ้วน ส่วนมาตรา 197 เป็นบทความผิดผู้ที่ไม่ทำบัญชี ภ.ภ. 11 หรือทำแล้วไม่เก็บบัญชีไว้ 5 ปี ซึ่งมีโทษทั้งปรับทั้งจำ เป็นการแยกความผิดฐานลงบัญชีไม่ครบถ้วน กับการไม่ทำบัญชีเสียเลยให้มีโทษหนักเบาต่างกัน
โจทก์ได้สั่งโภคภัณฑ์เข้ามาเป็นคราว ๆ และได้ลงบัญชี ภ.ภ. 11 แล้ว แต่คราวสุดท้ายไม่ลงบัญชีเลยดังนี้ ไม่ใช่เรื่องลงบัญชีไม่ครบอันเป็นเหตุให้มีโภคภัณฑ์ขาดหรือเกินจากบัญชีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 190 ต้องถือว่าไม่ได้ทำบัญชีตามมาตรา 197 เจ้าพนักงานจึงเรียกเก็บภาษีและเงินเพิ่มจากโจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งรถยนต์นั่งยี่ห้อซีตรอง ๕ คันเข้ามาและได้ขายไปแล้ว ๓ คัน โดยเสียภาษีโภคภัณฑ์แล้ว คงเหลืออยู่ ๒ คัน เจ้าหน้าที่สรรพากรมาตรวจบัญชีโภคภัณฑ์ (ภ.ภ.๑๑) ไม่มีรถยนต์ ๕ คันในบัญชี หาว่าโจทก์ทำผิดประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙๐ จึงมีใบสั่งให้โจทก์ชำระค่าภาษีโภคภัณฑ์กับภาษีเพิ่ม รวม ๔๒,๒๔๐ บาท โจทก์โต้แย้งไปยังจำเลยและไม่ยอมเสีย ต่อมาอำเภอนางรักมีหนังสือให้โจทก์ชำระภาษีดังกล่าว กับภาษีเพิ่มอีก รวม ๕๐,๖๘๘ บาท และจะยึดทรัพย์ของโจทก์ โจทก์ของดไว้แล้วฟ้องคดีนี้ รถ ๕ คันนี้ โจทก์ไม่ได้ลงบัญชีโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๘๕, ๑๙๗ จำเลยจะยกมาตรา ๑๘๐ มาเรียกเก็บภาษีไม่ชอบ จึงขอให้ศาลยกเลิกใบสั่งกับหนังสืออำเภอดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษี และเจ้าพนักงานยังไม่ได้ยึดทรัพย์ โจทก์มีรถยนต์ ๒ คัน เกินกว่าจำนวนที่ลงไว้ในบัญชีตามความหมายของประมวลรัษฏากรมาตรา ๑๙๐ จึงต้องเสียภาษีกับเงินเพิ่ม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก็มีอำนาจฟ้องได้ และใบสั่งกับหนังสืออำเภอไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่ายกเลิกไปในตัว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่การมีสินค้าไม่ตรงกับบัญชี ซึ่งจะขาดหรือเนไม่ได้ลงบัญชีเลยดังคดีนี้ ก็ต้องปรับด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๙๐ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งบังคับโดยแน่นอนให้โจทก์เสียภาษีจนถึงกับจะยึดทรัพย์ของโจทก์เช่นนี้ นับว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ส่วนปัญหาว่ากรณีของโจทก์ต้องด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๙๐ หรือมาตรา ๑๙๗ นั้น เห็นว่า มาตรา ๑๙๐ เป็นบทความผิดสำหรับผู้มีโภคภัณฑ์ขาดหรือเกินกว่าที่ลงไว้ในบัญชี ภ.ภ. ๑๑ คือ ลงบัญชีไม่ครบถ้วนส่วนมาตรา ๑๙๗ เป็นบทความผิดสำหรับผู้ไม่ทำบัญชี ภ.ภ. ๑๑ หรือทำแล้วไม่เก็บบัญชีไว้ ๕ ปี ให้ลงโทษทั้งปรับทั้งจำ กรณีของโจทก์ปรากฎว่าคราวก่อน ๆ ที่โจทก์สั่งโภคภัณฑ์มาได้ลงบัญชีแล้ว แต่คราวสุดท้ายนี้หาได้ลงบัญชีไม่ จึงไม่ใช่เรื่องลงบัญชีไว้ไม่ครบ ต้องถือว่าไม่ได้ทำบัญชีอันเป็นความผิดตามาตรา ๑๙๗ หาใช่มาตรา ๑๙๐ ไม่ ทั้งนี้จะเอาไปพิจารณาปะปนกับคราวก่อน ๆ ไม่ได้ เพราะการทำบัญชีแบบ ภ.ภ. ๑๑ มาตรา ๑๘๕ บังคับให้ทำเป็นรายวันต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้กรอกรายการลงไปสำหรับวันนั้น ก็หมายความว่ายังไม่ได้ทำบัญชีสำหรับวันนั้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น