คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 707/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้จำนองตกลงให้ผู้รับจำนองขายทรัพย์ที่จำนองได้ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 นั้นก็มีผลเพียงไม่สมบูรณ์โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้เท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองเอาทรัพย์นั้นขายให้แก่บุคคลอื่นตามข้อตกลง โดยผู้จำนองรู้เห็นด้วย และมิได้ทักท้วงอย่างใด ทั้งผู้ซื้อก็ได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ โดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ดังนี้ ผู้ซื้อก็ได้กรรมสิทธิ์ ผู้จำนองจะรื้อฟื้นเอาความไม่สมบูรณ์นั้นมาว่ากล่าวขอไถ่ถอนจำนองอีกหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๗๘ โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยที่ ๑ ได้กู้เงินของจำเลยที่ ๑ เป็ฯจำนวน ๑,๓๐๐ บาท โดยนำที่นาโฉนดตราจองที่ ๒๗๖ จำนองไว้กับจำเลยที่ ๑ ต่อมาโจทก์ออกจากสมาชิกของจำเลยที่ ๑ ไป จำเลยที่ ๑ หักเงินที่โจทก์ผ่อนชำระหนี้ไว้ตามระเบียบข้อบังคับสหกรณ์เป็ฯจำนวน ๑,๐๐๐ บาท เพื่อชำระหนี้จำนอง และจำเลยที่ ๑ ได้จัดให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในที่นาของโจทก์นั้น เพื่อนำรายได้มาชำระหนี้จำนองที่ยังขาดอยู่อีก ๓๗๘.๔๑ บาท แทนโจทก์ บัดนี้โจทก์ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ ๑ และไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ ๒ ทำนาของโจทก์อีก ได้บอกกล่าวจำเลยแล้วก็เพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหายไม่น้อยกว่าปีละ ๖๐๐ บาท จึงของให้บังคับจำเลยที่ ๑ รับไถ่ถอนจำนองและให้จำเลยที่ ๒ ตลอดบริวารออกไปจากที่นาโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ ๑ แล้วหลบหนีออกนอกแดนสหกรณ์ไม่ชำระหนี้ ที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหกรณ์ พ.ศ.๒๔๗๙ จึงรับจำเลยที่ ๒ เข้าเป็นสมาชิกและรับชำระหนี้แทนโจทก์ ๓๐๐ บาท โดยยกที่นาที่โจทก์จำนองกับที่ดินนอกโฉนดอีก ๑ แปลง ให้จำเลยที่ ๒ เป็นการตอบแทน ต่อมาที่ประชุมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๘๐ ตกลงให้สมาชิกที่มีส่วนร่วมในสหกรณ์ที่กับโจทก์พร้อมทั้งผู้ค้ำประกันโจทก์ ออกเงินชดใช้หนี้ของโจทก์ที่ยังขาดอยู ่๙๕๐ บาท ๒๓ สตางค์ หมดสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ ๒ เข้าครอบครองที่นาในโฉนดและนอกโฉนดที่จำเลยที่ ๑ มอบให้อย่างเป็นเจ้าของ โดยความสงบเปิดเผย แต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ ตลอดมาเป็นเวลา ๒๐ ปี เศษแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย โจทก์ละทิ้งการครอบครองไปมิได้เกี่ยวข้อง ย่อมขาดสิทธิครอบครอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลขั้นต้นเห็นว่า บันทึกตกลงให้จำหน่ายนาที่จำนองตามเอกสารหมายล. ๗ นั้น ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑๑ แต่ถือว่าเป็นการสละสิทธิ และมอบให้จำเลยที่ ๑ ขายนาที่จำนอง การที่จำเลยที ๑ ให้จำเลยที ๒ เข้ารับหนี้โจทก์ไป ๓๐๐ บาท และมอบนาให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำประโยชน์นั้น ก็เป็นการขายนาพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ แทนโจทก์ และจำเลยที่ ๒ ได้ครอบครองที่นาอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา ๒๐ กว่าปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารหมาย ล.๗ ทำขึ้นก่อนหนี้จำนองถึงกำหนดชำระ จึงฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑๑ การจำนองรายนี้จึงยังคงมีอยู่ระหว่าง โจทก์กับจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๒ ครอบครองนาที่จำนองมากว่า ๑๐ ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ที่โจทกฟ้องของให้บังคับจำเลยที่ ๑ รับไถ่ถอนจำนองจึงเป็ฯการพ้นวิสัยที่จะบังคับได้ และเมื่อสภาพไม่เปิดช่องให้บังคับได้ก็ต้องยกฟ้อง จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว แม้ข้อตกลงตามเอาสาร ล.๗ ที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๑ ผู้รับจำนองขายที่นาที่โจทก์จำนองได้นั้น จะถือว่าเป็นข้อตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระ อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑๑ ก็ตาม ข้อตกลงที่ฝ่าฝืนกฎหมายเช่นนี้ ก็มีผลเพียงไม่สมบูรณ์ โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้เท่านั้น แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างยินยอมให้ปฏิบัติไปแล้วตามข้อตกลงนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะรื้อผื้นเอาความไม่สมบูรณ์นั้นมาว่ากล่าวกันอีกหาได้ไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยที ๑ ตกลงกับจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๒ รับใช้หนี้แทนโจทก์ และมอบนาที่โจทก์จำนองไว้ให้จำเลยที่ ๒ ไปครอบครองเป็นเจ้าของ ซึ่งเท่ากับขายนาที่จำนองให้แก่จำเลยที่ ๒ ไปตามข้อตกลงนั้น และตามท้องสำนวนฟังได้ว่า โจทก์ก็รู้เห็นด้วย และมิได้ทักท้วงอย่างใด เป็นเวลากว่า ๒๐ ปีมาแล้ว โจทก์จะรื้อฟื้นเอาความไม่สมบูรณ์นั้นมาว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ ๑ อย่างใดหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการจำนองยังมีอยู่ หากสภาพไม่เปิด+ให้บังคับจำเลยที่ ๑ รับไถ่ถอนจำนองได้ จึงไม่บังคับให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วย
โดยต้องถือว่าการจำนองรายนี้ได้ระงับไปโดยชอบแล้วตามข้อตกลงนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะอางสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจำนองต่อกันไม่ได้แล้ว ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ จึงตกไป ส่วนฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นั้น มิใยว่าการโอนระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ จะถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองมานานกว่า ๒๐ ปี โจทก์หามีสิทธิฟ้องเรียกคืนจากจำเลยที่ ๒ ได้ไม่
พิพากษายืน.

Share