คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

1. จำเลยไม่ได้แสดงตนเป็นคนอื่น แต่เป็นเพียงแสดงฐานะของตนเองเป็นเท็จเท่านั้น ย่อมไม่ผิดฐานแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1)
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2505
2. จำเลยมิได้หลอกประชาชน หากแต่หลอกผู้เสียหายคนเดียวเท่านั้น ย่อมผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ไม่ใช่มาตรา 343 วรรคต้น

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกสมคบกันหลอกลวงนายง้วงเซ็ง ว่าบริษัทสากลเอนเตอไพรส์ จำกัด ซึ่งจำเลยกับพวกเป็นผู้จัดการ ขอซื้อเครื่องอาหลั่ยรถยนต์ ๓ เครื่อง ความจริงชื่อหรือยี่ห้อที่จำเลยอ้างนั้นมิได้เป็นบริษัท นายง้วงเซ็งหลงเชื่อได้ส่งมอบเครื่องอาหลั่ยดังกล่าวให้ ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๓๔๒, ๓๔๓, ๘๓
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์ว่า ความผิดของจำเลยไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๒ (๑) เพราะจำเลยมิได้แสดงตนว่าเป็นคนอื่น คงมีผิดตามมาตรา ๓๔๓ วรรคต้นเท่านั้น พิพากษาแก้
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๒ (๑)
ศาลฎีกาได้ปรึกษาคดีนี้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยผิดมาตรา ๓๔๓ วรรคต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง เพราะจำเลยมิได้หลอกลวงประชาชน จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายแต่ผู้เดียวเท่านั้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าความผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา ๓๔๒ (๑) นั้น ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า เรื่องนี้จำเลยมิได้แสดงตนเป็นคนอื่นแต่อย่างใด เป็นเพียงจำเลยแสดงฐานะของจำเลยอันเป็นเท็จว่าจำเลยเป็นผู้จัดการบริษัทสากลเอนเตอร์ไพรส์ จำกัดเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๒ (๑) คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๔/๒๔๙๓ ที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จำเลยควรมีความผิดตามมาตรา ๓๔๑
อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยมาเพียงจำคุกสองเดือนเมื่อลดฐานปราณีแล้วนั้น ต่ำเกินไป จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้ ๘ เดือน ลดฐานรับสารภาพให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย ๔ เดือน

Share